IN THIS SECTION
- พัฒนาการของทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 8
- การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่
- อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 8
- คำแนะนำสำหรับคุณแม่
พัฒนาการของทารกในครรภ์ในสัปดาห์ที่ 8
My Baby
ตัวอ่อนในระยะเอ็มบริโอในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มาถึงจุดเปลี่ยน โดยในช่วงนี้จะพัฒนากลายเป็นตัวอ่อนระยะฟีทัส (Fetus) ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการพัฒนาอวัยวะทั้งภายในและภายนอกอย่างต่อเนื่อง ตัวอ่อนในระยะนี้เริ่มขยายขนาดขึ้น โดยมีความยาวประมาณ 16 มิลลิเมตร หรือเท่ากับผลราสเบอร์รี่
จากที่มีลักษณะคล้ายลูกอ๊อด หรือมนุษย์ต่างดาวจากสัปดาห์ก่อนๆ รูปร่างหน้าตาของตัวอ่อนในระยะนี้เริ่มคล้ายมนุษย์มากขึ้น ดวงตาเริ่มเห็นชัดขึ้น และเริ่มมีการพัฒนาเรตินา และสีนัยน์ตา ส่วนศีรษะของตัวอ่อนมีขนาดใหญ่กว่าส่วนล่าง แขน เริ่มยาวขึ้น ตัวเริ่มยืดตรงขึ้น หางที่ดูคล้ายลูกอ๊อด ตอนนี้หายไป กลายเป็นขาที่มีขนาดยาวขึ้น นิ้วมือ นิ้วเท้าก็เห็นชัดมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน ลำไส้ก็มีความยาวมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ รก ที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง พร้อมที่จะรับหน้าที่แทนถุงไข่แดงที่ถูกใช้เป็นอาหารให้แก่ตัวอ่อนจากสัปดาห์ก่อนๆ โดยรกจะสร้างโครงสร้างชนิดพิเศษขึ้นมาเพื่อยึดติดกับผนังมดลูกอย่างมั่นคงมากยิ่งขึ้น และทำหน้าที่นำพาเลือด ออกซิเจน และสารอาหารต่างๆ จากร่างกายคุณแม่มายังตัวอ่อนอย่างเพียงพอ
ที่สำคัญคือ ตุ่มเล็กๆ บริเวณอวัยวะเพศภายนอกของตัวอ่อนเริ่มปรากฏให้เห็น แต่อาจยังเห็นได้ไม่ชัดเจนว่าเป็นเพศอะไร ก็ยังต้องคอยลุ้นกันต่อไป
การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 8
My Body
ร่างกายภายนอกของคุณแม่ ยังคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และยังคงมีอาการคล้ายกับสัปดาห์ก่อนๆ ได้แก่ อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ที่เห็นได้ชัดเจนอีกประการหนึ่งก็คือ คุณแม่จะรู้สึกเจ็บ คัดตึงบริเวณเต้านม เพราะขนาดเต้านมขยายใหญ่ขึ้น และอาจสังเกตได้ถึงเส้นเลือดบริเวณเต้านมเห็นชัดขึ้น
อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 8
Signs & Common Symptoms of Pregnancy
อาการอื่นๆ ที่คุณแม่อาจต้องเจอในสัปดาห์นี้ได้แก่
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- ปวดศีรษะ
- หงุดหงิดง่าย
- วิตกกังวล
- อารมณ์แปรปรวน
- รับประทานอาหารมากขึ้น
- ท้องอืดบ่อย
- ปัสสาวะบ่อยขึ้น
- ความรู้สึกไวต่อกลิ่นและความชอบในการกินที่เปลี่ยนไป
- ปวดเกร็งบริเวณท้องคล้ายปวดประจำเดือน
- มีตกขาว ซึ่งตามปกติ จะมีสีขาวและไม่มีกลิ่น แต่ถ้ามีกลิ่นหรือสีเปลี่ยนไป หรือมีอาการคันผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์
- มีเลือดออกทางช่องคลอด (Implantation Bleeding) หรือตามที่คนโบราณมักเรียกว่า “เลือดล้างหน้าเด็ก” แต่เลือดที่ออกมาในช่วงนี้จะต่างจากเลือดประจำเดือน โดยจะออกมาปริมาณเล็กน้อย และมีสีชมพูจางๆ หรือน้ำตาล ไม่ได้เป็นสีแดงสดเหมือนเลือดประจำเดือนตามปกติ อาการนี้ถือเป็นสิ่งปกติในหญิงตั้งครรภ์ และพบเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่มีอาการนี้ ดังนั้น ไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องกังวลมากนัก
คำแนะนำสำหรับคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 8
The Doc Says
ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ถือเป็นช่วงเวลาวิกฤติสำหรับความปลอดภัยของตัวอ่อนในครรภ์ คุณแม่จึงควรต้องระมัดระวังความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจนำไปสู่ภาวะแท้ง หรือความผิดปกติของการเจริญเติบโตของตัวอ่อนในครรภ์ โดยผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำถึงสิ่งที่คุณแม่ควรทำและไม่ควรทำในช่วงนี้ ดังนี้
สิ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรทำมีอะไรบ้าง
- รับประทานอาหารที่อุดมด้วยวิตามิน ดี และกรดโฟลิกอย่างพียงพอ ซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและการสร้างกระดูกที่แข็งแรงของตัวอ่อนในครรภ์
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การนั่งเฉยๆ นาน ส่งผลเสียต่อร่างกายของคุณแม่ ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดหลังล่าง น้ำหนักเกิน เส้นเลือดขอด และอาการหายใจติดขัด การขยับร่างกาย เพียงการออกกำลังกายเบาแต่สม่ำเสมอจะช่วยให้ร่างกายของคุณแม่กระฉับกระเฉงและบรรเทาอาการไม่สบายตัวต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ได้ด้วย โดยผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้คุณแม่ออกกำลังกายอย่างน้อยครั้งละ 30 นาที 4 ครั้งต่อสัปดาห์
- หลีกเลี่ยงอาหารบางประเภทที่เสี่ยงทำให้เกิดการติดเชื้อ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาของตัวอ่อนในครรภ์ได้ โดยอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่
- ชีสหรือเนยสดที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์
- นมดิบ
- แอปเปิ้ลไซเดอร์
- ไข่ดิบ หรืออาหารที่มีส่วนประกอบของไข่ดิบ เช่น มูส และทีรามิสุ
- เนื้อสัตว์ เนื้อปลา เนื้อสัตว์ทะเลดิบๆ
- เนื้อสัตว์แปรรูป
- เนื้อปลาที่มีสารปรอทตกค้างสูง เช่น ปลาฉลาม ปลาฉนาก ปลาอินทรีย์ และปลา Tilefish
สิ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรทำมีอะไรบ้าง
- เปลี่ยนความเชื่อที่ว่า “คุณแม่ต้องกินเพิ่มขึ้นเพื่อลูกอีกคนในท้อง” ซึ่งความจริงแล้ว ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ร่างกายของคุณไม่จำเป็นต้องรับพลังงานเพิ่มเลย คุณแม่สามารถรับประทานอาหารตามปริมาณพลังงานที่ควรได้รับในแต่ละวันก็เพียงพอแล้ว
- สูบบุหรี่
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ใช้ยาเสพติด
- ดำน้ำหรือเล่นกีฬาที่มีแรงกระทก
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนปริมาณมากเกินไป
- อดอาหาร
เรามาลุ้นกันต่อว่าในสัปดาห์ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นกับคุณแม่และลูกน้อยอีกบ้าง
+ M.D. Visit Planner: Talk to doctor about strategies to deal with emotional issues