IN THIS SECTION
- พัฒนาการของทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 7
- การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่
- อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 7
- คำแนะนำสำหรับคุณแม่
พัฒนาการของทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 7
My Baby This Week
ในสัปดาห์ที่ 7 อนาคตลูกน้อยของคุณเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากขนาดเท่าเมล็ดถั่ว กลายมาเป็นขนาดเท่าผลบลูเบอรี่ มีความยาวประมาณ 10 มิลลิเมตร แต่รูปร่างหน้าตาอาจยังเหมือนมนุษย์ต่างดาวมากกว่าทารก ส่วนศีรษะมีขนาดใหญ่กว่าส่วนล่าง เนื่องจากช่วงนี้ สมองของตัวอ่อนและกระดูกสันหลังพัฒนาอย่างรวดเร็วมาก โดยจะมีเซลล์ประมาณ 100 เซลล์ถูกสร้างขึ้นใหม่ในทุกๆ นาทีเลยทีเดียว ในขณะที่อวัยวะส่วนอื่นๆ ได้แก่ หู ตา จมูก ก็กำลังพัฒนาเป็นรูปเป็นร่างมากยิ่งขึ้น
กระดูกอ่อนบริเวณแขนและขาเริ่มพัฒนา ทำให้แขนเริ่มยาวขึ้น และส่วนปลายของแขนมีลักษณะเป็นใบพัดซึ่งจะพัฒนาเป็นนิ้วมือต่อไป นอกจากนี้ เครือข่ายเส้นประสาทได้ขยายไปทั่วร่างกายของตัวอ่อนแล้ว ซึ่งจะทำให้ตัวอ่อนสามารถขยับอวัยวะได้ในอีกไม่ช้า นอกจากนี้ หัวใจดวงเล็กๆ ก็สามารถเต้นเป็นจังหวะคงที่มากยิ่งขึ้นอีกด้วย
การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่
My Body
ในสัปดาห์นี้ มดลูกของคุณแม่จะขยายใหญ่ขึ้น โดยมีขนาดเท่าลูกมะนาว แต่อาจยังไม่สามารถสังเกตเห็นได้ชัดจากภายนอกว่าคุณตั้งครรภ์ นอกจากนี้ ร่างกายของคุณแม่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายประการเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของตัวอ่อน
อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 7
Signs & Common Symptoms of Pregnancy
- กระหายน้ำบ่อยกว่าปกติ
ในช่วงนี้ ร่างกายคุณแม่จะผลิตปริมาณเลือดสูงขึ้นถึงร้อยละ 50 เพื่อให้แน่ใจได้ว่า ตัวอ่อนจะได้รับออกซิเจนและสารอาหารที่เพียงพอ แต่ในทางกลับกัน การเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลให้คุณแม่กระหายน้ำบ่อยกว่าปกติ เพราะฉะนั้น คุณแม่ควรดื่มน้ำให้มากขึ้น โดยควรดื่มน้ำอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน - ปัสสาวะบ่อยขึ้น
อาการนี้มักเกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ในช่วงต้นๆ เนื่องจากมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นนั้นไปเบียดและกดกระเพาะปัสสาวะ
ทำให้คุณแม่ต้องปัสสาวะบ่อยขึ้น - เลือดออกง่ายขณะแปรงฟัน
คุณแม่หลายคนมักพบว่ามีเลือดออกเวลาแปรงฟันบ่อย อาการนี้มีสาเหตุจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง ทำให้เหงือกของคุณอักเสบ ดังนั้น ในช่วงนี้ คุณแม่ควรดูแลรักษาความสะอาด และรักษาสุขภาพเหงือกและฟันเป็นพิเศษ
นอกจากอาการหลักๆ ดังกล่าวที่คุณแม่ต้องพบเจอแล้ว ก็อาจยังมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่ อ่อนเพลีย หน้าอกขยาย และเกิดอาการตึง เจ็บ และอาการแพ้ท้องทั่วไป
คำแนะนำสำหรับคุณแม่
The Doc Says
คุณแม่อาจต้องเพิ่มการออกกำลังกาย หรือเพิ่มกิจกรรมที่ทำให้ต้องขยับ เคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดีต่อทั้งตัวคุณแม่และอนาคตลูกน้อยในครรภ์ด้วย ยิ่งไปกว่านั้น การออกกำลังกายยังช่วยบรรเทาอาการบางอย่างที่ทำให้คุณแม่ไม่สบายตัว รวมทั้งยังช่วยปรับสมดุลด้านอารมณ์ให้แก่คุณแม่ด้วย โดยการออกกำลังกายสามารถช่วยคุณแม่ในเรื่องต่างๆ ดังนี้
- ทำให้นอนหลับสบายขึ้น
- ช่วยบรรเทาอาการหรือภาวะไม่พึงประสงค์ เช่น การเกิดเส้นเลือดขอด อาการบวมบริเวณข้อเท้า มือ และเท้า รวมทั้งความอ่อนเพลียและความเหนื่อยล้า
- ลดความวิตกกังวลระหว่างการตั้งครรภ์
อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง หากคุณตั้งใจจะเริ่มออกกำลังกาย เพื่อที่ว่าแพทย์จะแนะนำประเภทหรือโปรแกรมการอออกกำลังที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคุณ
เรามาลุ้นกันต่อว่าในสัปดาห์ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นกับคุณแม่และเจ้าตัวน้อยอีกบ้าง