IN THIS SECTION
- พัฒนาการของทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 42
- การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่
- อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 42
- คำแนะนำสำหรับคุณแม่
พัฒนาการของทารกในครรภ์ในสัปดาห์ที่ 42
My Baby This Week
ในช่วงนี้ หน้าท้องของคุณแม่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก รวมไปถึงด้านน้ำหนักที่จะมีความใกล้เคียงกับสัปดาห์ก่อน รวมไปถึงอาการต่างๆที่เกิดขึ้นได้บ่อยในช่วงการตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 3 (Third trimester pregnancy) เช่น อาการบวมที่เท้าและข้อเท้า (Edema) อาการนอนหลับยาก เป็นต้น โดยการตั้งครรภ์ของคุณแม่ถือได้ว่าเป็นการตั้งครรภ์เกินกำหนด (Post term pregnancy) ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ผิดปกติเนื่องจากการเกิดภาวะตั้งครรภ์เกินกำหนดนั้นมีได้หลายปัจจัย ได้แก่
1. การตั้งครรภ์ครั้งนี้คือครั้งแรกของคุณแม่ (First pregnancy)
2. คุณแม่เคยตั้งครรภ์เกินกำหนดมาก่อน
3. คุณแม่เป็นโรคอ้วน
4. การคำนวนวันคลอดผิดพลาด อาจเกิดจากการนับวันสุดท้ายของการมีประจำเดือนผิดพลาด หรือ วันคลอดถูกกำหนดจากการอัลตราซาวด์ (Ultrasound) ในช่วงท้ายของตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 (Late second trimester pregnancy) หรือ ไตรมาสที่ 3
ทั้งนี้คุณแม่ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ (Obstetricians) และเข้ารับการตรวจอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาวิธีการคลอดลูกน้อยที่เหมาะสมโดยมีหลายวิธีเช่น การคลอดตามธรรมชาติ (Natural childbirth) การชักนำให้คลอด (Labor induction) การผ่าตัดคลอดลูก (C-section) เป็นต้น
ทารกจะถูกสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด
เมื่อเข้าสู่การตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 42 ทารกในครรภ์ (Womb) ได้ถือว่าเป็นทารกนั้นมีอายุเกินกำหนดคลอด (Overdue) แม้การอยู่ในครรภ์นานถึง 42 สัปดาห์นั้นจะเป็นเรื่องที่ปกติ แต่คุณแม่และลูกน้อยจะถูกสังเกตการณ์โดยสูตินรีแพทย์ เป็นพิเศษกว่าสัปดาห์ที่ผ่านๆมา โดยหากคุณแม่คลอด (Labor) ในสัปดาห์นี้ ทารกอาจมีผิวหนังที่แห้ง แตก ลอกหรือเป็นรอยย่น ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราว เนื่องจากไขที่ตัวทารก (Vernix) ที่คอยปกป้องผิวหนังและคงความชุ่มชื้นให้แก่ผิวของทารกได้หายไปเมื่อหลายสัปดาห์ก่อนแล้ว นอกจากนี้ทารกยังมีเล็บที่ยาวขึ้น รวมไปถึงอาจมีเส้นผมที่ยาวมากขึ้น
ขณะเดียวกัน แพทย์จะทำการตรวจ Fetal Non-Stress Test ซึ่งเป็นการตรวจโดยใช้เข็มขัดคาดที่หน้าท้องของคุณแม่เพื่อวัดอัตราการเต้นของหัวใจลูกน้อย และเข็มขัดอีกสายหนึ่งจะทำการวัดการบีบตัวของมดลูก (Contractions) โดยหัวใจของทารกควรเต้นเร็วขึ้นเมื่อเกิดการขยับเขยื้อนร่างกาย พร้อมกับตรวจวัดปริมาณน้ำคร่ำ (Amniotic fluid volume assessment) โดยปริมาณน้ำคร่ำจะเริ่มลดลงเมื่อเข้าสู่การตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 40 ดังนั้นหากในสัปดาห์นี้ปริมาณน้ำคร่ำอยู่ในระดับที่น้อยเกินเกณฑ์ แพทย์อาจแนะนำให้ทำการชักนำให้คลอดหรือผ่าตัดคลอดลูกทันที หรือ แพทย์อาจทำการตรวจ Biophysical profile (BPP test ) ซึ่งเป็นการตรวจแบบรวม Fetal Non-Stress Test เข้ากับการตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) โดยการตรวจนี้จะเป็นการวัดการหายใจของทารก อัตราการเต้นของหัวใจ การขยับเขยื้อนร่างกายของทารกภายใน 30 นาที การขยับแขนและขาของทารก และปริมาณน้ำคร่ำรอบๆตัวทารก เพื่อประเมิณสุขภาพของทารกโดยปราศจากผลข้างเคียงและอันตรายใดๆ
ความเสี่ยงของการตั้งครรภ์เกินกำหนด
ผลการวิจัยเปิดเผยว่าเมื่อเข้าสู่ช่วงการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 42 หรือที่เรียกว่าการตั้งครรภ์เกินกำหนดนั้น โอกาสเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพในทารกอาจเพิ่มมากขึ้น โดยปัญหาสุขภาพที่พบได้มากได้แก่
1. ภาวะทารกในครรภ์ตัวโต (Fetal macrosomia) ซึ่งเป็นภาวะที่ทารกมีขนาดร่างกายที่โตเกินเกณฑ์ ทำให้เกิดปัญหาขณะคลอด จึงอาจมีความจำเป็นที่จะต้องผ่าตัดคลอด หรืออาจเกิดปัญหาไหล่ของทารกติดบริเวณกระดูกเชิงกรานของคุณแม่ขณะคลอดก็ได้ (Shoulder dystocia)
2. ภาวะทารกในครรภ์เจริญเติบโตซ้ำ (Postmaturity syndrome) ซึ่งเกิดจากการที่ไขที่ตัวทารกขาดหายไปตั้งแต่หลายสัปดาห์ก่อน ไขมันใต้ผิวหนังของทารกลดลง และน้ำคร่ำเกิดการปนเปื้อน
3. ภาวะน้ำคร่ำน้อย (Oligohydramnios) ซึ่งจะส่งผลเสียต่ออัตราการเต้นของหัวใจทารกและเกิดการบีบอัดของสายสะดือ (Umbilical cord) เมื่อคุณแม่เจ็บครรภ์คลอด
ความเสี่ยงของการเกิดโรคในทารก
จากผลการวิจัยของวารสารวิชาการนานาชาติระบาดวิทยาแห่งประเทศอังกฤษเปิดเผยว่าทารกที่คลอดหลังการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 42 มีโอกาสเสี่ยงในการปัญหาด้านพฤติกรรมมากกว่าทารกที่คลอดตามกำหนด โดยปัญหาที่พบได้มากคือ โรคสมาธิสั้น ที่จะส่งผลในระยะยาวต่อลูกน้อย รวมไปถึงปัญหาสุขภาพประจำตัวอื่นๆที่จะติดตัวลูกน้อยไปในระยะยาว นอกจากนี้ยังมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดการเสียชีวิตในครรภ์ (Stillbirth) ได้มากอีกด้วย
อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 42
Signs & Common Symptoms of Pregnancy
1. ภาวะเจ็บครรภ์คลอดหลอก (Braxton Hicks contractions) ซึ่งในสัปดาห์นี้จะเกิดถี่มากขึ้น หากคุณแม่พบว่ามีการเจ็บครรภ์คลอดหลอกที่เกิดขึ้นบ่อยและเกิดขึ้นเป็นระยะๆอย่างสม่ำเสมอควรเข้าพบแพทย์ เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณว่าจะคลอดในไม่ช้า
2. ถุงน้ำคร่ำแตก (Water breaking) โดยคุณแม่อาจรู้สึกได้ถึงการไหลของของเหลวที่มีความใสและไร้กลิ่น ซึ่งคุณแม่ไม่สามารถอั้นได้ หากคุณแม่มีภาวะถุงน้ำคร่ำแตกควรรีบเข้าพบแพทย์ทันที
3. อาการท้องเสีย ซึ่งอาจเป็นสัญญาณว่าคุณแม่จะคลอดในไม่ช้า เนื่องจากก่อนคลอดนั้นกล้ามเนื้อลำไส้จะคลายตัวก่อนการคลอดทารก ดังนั้นคุณแม่ควรดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอและทานอาหารที่เบาและย่อยง่ายเพื่อให้มีพลังงาน
4. ภาวะน้ำนมเหลืองไหล (Leaking colostrum) ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงสัปดาห์ท้ายๆของการคลอด หรือก่อนการคลอดจริง โดยน้ำนมเหลืองจะมีลักษณะเป็นน้ำนมเหลวสีขาวขุ่นอมเหลืองที่คุณแม่สร้างขึ้นก่อนการสร้างน้ำนมแม่จริงๆ (Breast milk)
การดูแลสุขภาพและการปฏิบัติตัวของคุณแม่
The Doc Says
เนื่องจากในสัปดาห์นี้ คุณแม่ได้มีอายุครรภ์ 42 สัปดาห์แล้วซึ่งเป็นภาวะตั้งครรภ์เกินกำหนด คุณแม่จึงควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการชักนำให้คลอด โดยหากคุณแม่ไม่เจ็บครรภ์คลอดตามธรรมชาติ มีความเป็นไปได้สูงที่แพทย์จะทำการชักนำให้คลอดภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งวิธีการทางการแพทย์นี้ไม่มีความเสี่ยงในการเกิดอันตรายต่อคุณแม่และทารก
นอกจากนี้ คุณแม่ควรสังเกตการเจ็บครรภ์คลอดซึ่งจะเกิดบ่อยมากขึ้น หากอาการเจ็บครรภ์มีระยะยาวประมาณ 45 วินาที และเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ทุกๆ 5 นาที คุณแม่ควรรีบเข้าพบแพทย์ เนื่องจากอาการนี้เป็นสัญญาณว่าคุณแม่จะคลอดตามธรรมชาติในไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าแล้ว