IN THIS SECTION
- พัฒนาการของทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 40
- การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่
- อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 40
- คำแนะนำสำหรับคุณแม่
พัฒนาการของทารกในครรภ์ในสัปดาห์ที่ 40
My Baby This Week
เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุครรภ์ 40 สัปดาห์ ถือว่าการตั้งครรภ์อยู่ในช่วงครบกำหนดแล้ว (Full term) ลูกน้อยของคุณแม่คุณพ่อจะมีขนาดความยาวของร่างกายประมาณ 48.3 เซนติเมตร ถึง 53.3 เซนติเมตร หรือ 19 นิ้ว ถึง 21 นิ้ว และมีน้ำหนักประมาณ 3 กิโลกรัม ถึง 4.5 กิโลกรัม หรือ 6.75 ปอนด์ ถึง 10 ปอนด์ ขนาดใกล้เคียงกับผลฟักทองลูกเล็ก (A small pumpkin) โดยสัปดาห์นี้ถือว่าทารกได้เติบโตจนสมบูรณ์ เป็นการตั้งครรภ์ที่ครบกำหนดแล้ว
แม้ในสัปดาห์นี้จะถือได้ว่าเป็นการตั้งครรภ์ที่ครบกำหนดแล้ว แต่ทารกก็ยังมีพัฒนาการ (Fetal development) อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ร่างกายพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตนอกครรภ์ (Womb) โดยในสัปดาห์นี้กระดูกของทารกจะแข็งตัวและมีความสมบูรณ์แล้ว ยกเว้นส่วนกะโหลกศีรษะ ที่ยังคงมีความนุ่มและยืดหยุ่น เพื่อทำให้การผ่านช่องคลอด (Birth canal) เป็นไปได้ง่ายมากขึ้น ส่วนสมองก็ยังคงมีพัฒนาการที่รวดเร็ว เพื่อให้ทารกพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตภายนอกครรภ์ โดยทารกจะสามารถขยับงอส่วนข้อต่อต่างๆของร่างกายได้เป็นครั้งคราว
นอกจากนี้ ภายในร่างกายของทารกยังมีการหลั่งฮอร์โมน เพื่อส่งสัญญาณไปตามส่วนต่างๆของร่างกายให้เตรียมความพร้อมสำหรับการคลอด (Labor) โดยฮอร์โมนที่สำคัญคือ ฮอร์โมนความเครียด ที่จะถูกหลั่งออกมาขณะการคลอด เพื่อให้ตัวทารกเองสามารถปรับตัวอย่างรวดเร็วให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆภายนอกครรภ์ เริ่มต้นสัญชาตญาณการเอาชีวิตรอด รวมถึงช่วยในการหายใจเข้าครั้งแรกของทารกอีกด้วย
หากสัปดาห์นี้คุณแม่คลอดลูกน้อย ทารกแรกเกิด (Newborn) ที่ลืมตาได้จะสามารถมองเห็นได้ในระยะประมาณ 1 นิ้วเท่านั้น และยังไม่สามารถมองเห็นได้ชัดนัก แต่ทารกอาจสามารถจำเสียงของคุณแม่คุณพ่อได้
สุขภาพของทารกในช่วงสัปดาห์ที่ 40
Baby's Health
ในช่วงนี้คุณหมอจะทำการตรวจความพร้อมของคุณแม่และลูกน้อยเนื่องจากเป็นสัปดาห์ที่เหมาะสมสำหรับการคลอด โดยสูตินรีแพทย์ (Obstetricians) จะทำการอัลตราซาวด์ (Ultrasound) คุณแม่และคุณพ่อจะสามารถเห็นลูกน้อยที่เติบโตอย่างสมบูรณ์ หากคุณแม่คุณพ่อเลือกการอัลตราซาวด์แบบ 3D หรือ 4D ก็จะสามารถเห็นรายละเอียดเล็กๆได้เช่น เล็บมือ ผม คิ้ว เป็นต้น และคุณหมอจะทำการตรวจ Fetal Non-Stress Test ซึ่งเป็นการตรวจโดยใช้เข็มขัดคาดที่หน้าท้องของคุณแม่เพื่อวัดอัตราการเต้นของหัวใจลูกน้อย และเข็มขัดอีกสายหนึ่งจะทำการวัดการบีบตัวของมดลูก (Contractions) โดยแพทย์จะมองหาสัญญาณของความพร้อมในการคลอด ซึ่งหากคุณแม่ยังไม่พร้อมที่จะคลอดในสัปดาห์นี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นกังวล เนื่องจากประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของการตั้งครรภ์มักจะคลอดหลังสัปดาห์ที่ 40
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 40
My Body
ในช่วงอายุครรภ์ 40 สัปดาห์นี้ คุณแม่ยังคงมีรอยแตกลาย (Stretch marks) อยู่ ซึ่งบริเวณรอยแตกลายบนหน้าท้องของคุณแม่นั้นอาจเกิดผื่นลมพิษขณะตั้งครรภ์ (Pruritic Urticarial Papules and Plaques of Pregnancy – PUPPP) และผื่นนี้สามารถลามไปได้ถึงบริเวณลำตัวจนถึงอก แต่มักไม่ลามเลยบริเวณหน้าอกไป โดยอาการคันและผื่นลมพิษนี้จะค่อยๆหายไปหลังการคลอด
นอกจากนี้คุณแม่หลายท่านอาจพบกับความกังวล ว่าถุงน้ำคร่ำจะแตกเมื่อไหร่ (Water break) ซึ่งจากผลวิจัยพบว่า มีหญิงตั้งครรภ์น้อยกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ที่ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการคลอด หากคุณแม่น้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด (Contractions) เป็นไปได้ว่าคุณแม่จะคลอดภายใน 24 ชั่วโมง
คุณแม่สามารถสังเกตการไหลของน้ำคร่ำ (Amniotic fluid) ได้โดย น้ำคร่ำนั้นจะไม่มีสีและไม่มีกลิ่น ขณะที่ปัสสาวะจะมีสีอมเหลืองและมีกลิ่น เมื่อเกร็งบริเวณเชิงกราน (Pelvic) ก็ยังไม่หยุดไหล และการไหลของน้ำคร่ำนั้นจะเป็นการไหลอย่างช้าๆ หากน้ำคร่ำของคุณแม่มีสีเขียวหรือน้ำตาล ควรแจ้งแพทย์ทันที อาจเป็นไปได้ว่าภายในร่างกายของทารกมีการเคลื่อนไหวของลำไส้ และมีขี้เทา (Meconium) ในมดลูก (Utero)
อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 40
Signs & Common Symptoms of Pregnancy
1. อาการท้องเสีย ในสัปดาห์นี้ลำไส้ของคุณแม่จะหลวมกว่าที่ผ่านมา หากคุณแม่เกิดอาการท้องเสียบ่อยครั้งในสัปดาห์นี้อาจเป็นสัญญาณว่าคุณแม่ใกล้คลอดแล้วก็เป็นได้
2. อาการนอนหลับยาก ต้นเหตุของอาการมักมาจากความกังวล การคิดมาก คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเสริมจากสมุนไพร สิ่งที่คุณแม่ควรทำคือหากิจกรรมที่ไม่ต้องใช้เทคโนโลยี อย่างเช่นการอ่านหนังสือหรือการอ่านแมกกาซีน การนวด จะช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลายและหลับง่ายขึ้น
3. อาการตะคริวที่ขา คุณแม่สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอในช่วงเวลากลางวัน รวมไปถึงทานอาหารที่อุดมไปด้วยแมกนีเซียม และ แคลเซียม ซึ่งถั่วอัลมอนด์มีสารอาหารเหล่านี้อยู่ครบถ้วน
4. อาการปวดเชิงกราน (Pelvic pain) เนื่องจากช่วงบริเวณเชิงกรานต้องรับน้ำหนักมากกว่าปกติ และศีรษะของลูกน้อยไปกดทับบริเวณสะโพก และ กระเพาะปัสสาวะ หากคุณแม่มีอาการปวดที่รุนแรง อาจลองเข้ารับการนวดจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อคลายอาการปวด
5. ภาวะมดลูกขยายตัว (Cervix dilation) แม้คุณแม่จะไม่รู้สึกเจ็บอะไร แต่การขยายตัวและบางลงของมดลูกก็เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าคุณแม่พร้อมคลอดลูกน้อยหรือไม่
การดูแลสุขภาพและการปฏิบัติตัวของคุณแม่
The Doc Says
หากในสัปดาห์นี้คุณแม่ยังไม่มีการเจ็บครรภ์คลอดตามธรรมชาติ คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการสิ้นสุดการตั้งครรภ์หรือชักนำการเจ็บครรภ์คลอด (Inducing labor) เพื่อให้คุณแม่คลอดลูกน้อยภายในสัปดาห์นี้
นอกจากนี้ในช่วงนี้คุณแม่ควรทานอาหารรสจืด ไม่หนักท้อง หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง แต่ให้พลังงานมากและอุดมไปด้วยสารอาหาร คุณแม่ควรออกกำลังกายอย่างง่ายเช่นการแกว่งแขนประมาณ 15 ถึง 20 ครั้ง และออกไปเดินบ้าง
สุดท้าย คุณแม่ควรพยายามพักผ่อนและทำตัวให้สบายมากที่สุด ไม่ควรเครียดหรือกังวลเกี่ยวกับการนับจำนวนครั้งของการเจ็บครรภ์ แต่คุณแม่ควรนอนหลับให้เพียงพอในตอนกลางคืน และหากิจกรรมทำช่วงกลางวันเพื่อให้ยุ่งอยู่ตลอดเวลาเพื่อคลายความจดจ่อและกังวล