IN THIS SECTION
- พัฒนาการของทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 39
- การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่
- อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 39
- คำแนะนำสำหรับคุณแม่
พัฒนาการของทารกในครรภ์ในสัปดาห์ที่ 39
My Baby This Week
เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุครรภ์ 39 สัปดาห์ ถือว่าการตั้งครรภ์อยู่ในช่วงครบกำหนดแล้ว (Full term) ลูกน้อยของคุณแม่คุณพ่อจะมีขนาดความยาวของร่างกายประมาณ 45.7 เซนติเมตร ถึง 52 เซนติเมตร หรือ 18 นิ้ว ถึง 20.5 นิ้ว และมีน้ำหนักประมาณ 2.9 กิโลกรัม ถึง 3.6 กิโลกรัม หรือ 6.5 ปอนด์ ถึง 8 ปอนด์ ขนาดใกล้เคียงกับผลแตงหวาน (Honeydew melon) โดยน้ำหนักประมาณหนึ่งในสามของทารกมาจากส่วนศีรษะ
แม้ในช่วงนี้ตามทฤษฎีแล้วทารกจะพร้อมสำหรับการคลอดแล้ว แต่ท่อน้ำตาของทารกยังไม่พร้อมใช้งาน ดังนั้นแม้หลังคลอดทารกจะร้องไห้ก็จะยังไม่มีการผลิตน้ำตา โดยท่อน้ำตาจะพร้อมทำงานหลังจากทารกมีอายุประมาณ 1 เดือนแล้ว นอกจากนี้ทารกก็ยังมีพัฒนาการ (Fetal development) อยู่อย่างต่อเนื่องในส่วนของสมอง (Brain) ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดือนก่อนถึง 30 เปอร์เซ็นต์ และจะยังคงมีพัฒนาการที่รวดเร็วอย่างต่อเนื่องหลังคลอดอีกเป็นเวลา 3 ปี หรือจนกว่าลูกน้อยของคุณแม่คุณพ่อจะอายุ 3 ปีนั่นเอง
นอกจากนี้ ผิวหนังของทารกได้พัฒนาชั้นไขมันสมบูรณ์แล้ว และชั้นไขมันนี้นอกจากจะช่วยปรับอุณหภูมิในร่างกายของทารกแล้ว ยังช่วยปกป้องเส้นเลือดที่มีอยู่ทั่วร่างกายอีกด้วย ชั้นไขมันที่มีความหนานี้ยังทำให้ทารกมีสีผิวที่ขาวอมชมพูหรือสีผิวโทนอ่อน ไม่ว่าคุณแม่และคุณพ่อจะมีผิวสีอะไรก็ตาม สีผิวของทารกจะเริ่มเปลี่ยนไปตามธรรมชาติหลังคลอด เมื่อเม็ดสีเริ่มมีการพัฒนา
สุขภาพของทารกในช่วงสัปดาห์ที่ 39
Baby's Health
ในช่วงการตั้งครรภ์ 39 สัปดาห์นี้ หากคุณแม่เข้ารับการอัลตราซาวด์ (Ultrasound) คุณแม่อาจสามารถเห็นเล็บมือ ผม รวมไปถึงอวัยวะเพศ ชัดขึ้นกว่าสัปดาห์ที่ผ่านๆมา โดยในช่วงนี้สูตินรีแพทย์ (Obstetricians) จะสังเกตท่าทางของทารกในครรภ์ว่าอยู่ในลักษณะหัวลง (Head down) หรือไม่ หากทารกยังอยู่ในท่าก้นนำ (Breech presentation) คุณหมอจะทำการวินิจฉัยทันทีเพื่อหาวิธีปรับเปลี่ยนท่าทางให้ทารกอยู่ในท่าศีรษะนำก่อนการคลอดจริง (Labor) โดยวิธีทางการแพทย์ในการปรับท่าทางของทารกมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน เช่น การทานยาเพื่อทำให้มดลูก (Uterus) คลายตัวมากขึ้น จากนั้นคุณหมอจะทำการดันเบาๆที่ท้องส่วนล่างของคุณแม่ เพื่อให้ทารกเปลี่ยนไปอยู่ในท่าศีรษะนำ โดยวิธีนี้จะทำร่วมกับการสังเกตอัตราการเต้นของหัวใจของทารกอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้คุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและหาวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการเปลี่ยนท่าทางของทารกในครรภ์ (Womb)
หากในช่วงนี้ทารกอยู่ในท่าศีรษะนำและมีสุขภาพที่แข็งแรง คุณแม่อาจปรึกษาคุณหมอถึงการทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลง (Labor induction) กล่าวได้ว่าเป็นการเร่งให้คุณแม่มีอาการเจ็บครรภ์คลอดที่เร็วขึ้น โดยคุณหมอจะมองหาสัญญาณของการคลอดตามธรรมชาติก่อน เช่น ปากมดลูกนุ่ม (Cervix ripeness) แต่หากยังไม่มีการเจ็บครรภ์คลอดตามธรรมชาติ คุณหมอจะใช้วิธีการทางการแพทย์เพื่อเป็นการชักนำให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอด
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 39
My Body
เมื่อเข้าสู่ช่วงสัปดาห์ใกล้คลอดนี้ รอยแตกลาย (Stretch marks) บริเวณหน้าท้องของคุณแม่จะสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งรอยแตกลายนี้ยังอาจทำให้เกิดผื่นลมพิษขณะตั้งครรภ์ (Pruritic Urticarial Papules and Plaques of Pregnancy – PUPPP) โดยอาการคันและผื่นลมพิษนี้จะค่อยๆหายไปหลังการคลอด หากคุณแม่รู้สึกคันอย่างมาก คุณแม่สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการตัดใบว่านหางจระเข้ตามแนวยาว จะทำให้ได้เจลว่านหางจระเข้ตามธรรมชาติ คุณแม่สามารถนำเนื้อด้านในของว่านหางจระเข้ที่มีลักษณะคล้ายเจลมาทาบริเวณที่เกิดอาการคันได้ อีกหนึ่งวิธีคือการประคบเย็นด้วยผ้าเปียกหรือถุงน้ำแข็ง เพื่อคลายความรู้สึกคัน หรือปรึกษาแพทย์เพื่อรับครีมทาภายนอกสำหรับบรรเทาอาการผื่นลมพิษในหญิงตั้งครรภ์
นอกจากนี้ในช่วงอายุครรภ์ครบ 39 สัปดาห์นี้ คุณแม่ควรสังเกตสัญญาณของการคลอด (Signs of labor) ซึ่งประกอบไปด้วย ถุงน้ำคร่ำแตก (Water breaking) อาการท้องเสีย อาการมึนหัวคลื่นไส้ ภาวะเมือกปิดปากมดลูกตก (Mucous plug) โดยเมือกจะมีลักษณะข้นเหนียวเป็นสีขาวใส และ ภาวะเลือดตก ซึ่งอาจเกิดพร้อมกับภาวะเมือกปิดปากมดลูกตก หากในช่วงนี้คุณแม่สังเกตว่ามีอาการเลือดออกมากกว่าปกติ อาจเป็นสัญญาณว่าคุณแม่จะคลอดในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 39
Signs & Common Symptoms of Pregnancy
1. อาการเจ็บครรภ์หลอก (Braxton Hicks contractions) ซึ่งเป็นการบีบตัวของมดลูกประมาณ 30 วินาที ถึง 2 นาที ซึ่งในสัปดาห์นี้จะเกิดอาการถี่ขึ้นและนานขึ้น แต่หากคุณแม่ไม่มีอาการนี้ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกตินัก เนื่องจากอาการเจ็บครรภ์หลอกมักเกิดกับการตั้งครรภ์ครั้งที่สองและครั้งต่อๆไปมากกว่า
2. โรคริดสีดวง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไปในหญิงที่มีอายุครรภ์ 25 สัปดาห์ขึ้นไป แต่คุณแม่ควรระวังว่าระหว่างการคลอด การเบ่งคลอดลูกน้อยจะทำให้อาการริดสีดวงนั้นรุนแรงขึ้น
3. อาการแสบร้อนกลางอก ซึ่งจะมีความรุนแรงมากที่สุดในช่วงนี้ แต่อาการจะหายไปหลังการคลอด ระหว่างนี้คุณแม่ควรดื่มน้ำก่อนหรือหลังมื้ออาหาร แทนการดื่มระหว่างการทานอาหาร
4. อาการเหนื่อยล้า ซึ่งเกิดจากการแบกรับน้ำหนักของทารกในครรภ์ รวมถึงการกดทับที่บริเวณกระเพาะอาหาร จากมดลูก (Uterus) ทำให้คุณแม่อยากอาหารน้อยลง อาการนี้อาจส่งผลให้น้ำตาลในเลือดของคุณแม่ลดลง มีอาการเหนื่อยล้าที่มากขึ้น รวมถึงมึนศีรษะ ดังนั้นคุณแม่จึงควรศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของสารอาหารที่หญิงมีครรภ์ควรได้รับและปฏิบัติตามเพื่อลดอาการเหนื่อยล้า
5. อาการปวดหลัง ซึ่งจะมีความรุนแรงขึ้นในช่วงนี้ คุณแม่สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการอาบน้ำอุ่นและให้น้ำอุ่นไหลผ่านบริเวณมัดกล้ามเนื้อที่มีอาการปวด
การดูแลสุขภาพและการปฏิบัติตัวของคุณแม่
The Doc Says
ในช่วงใกล้คลอดนี้ คุณแม่ควรหาเวลางีบให้มากขึ้น และทานอาหารเป็นมื้อเล็กๆแทนการทานอาหารมื้อใหญ่ รวมถึงการทานขนมเพื่อให้ร่างกายมีพลังงานที่มากขึ้นรวมถึงช่วยให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ เช่น น้ำซุป ขนมปังทาแยม ไอศกรีมซอร์เบต (ไอศกรีมที่ไม่มีส่วนประกอบของนมและไข่) ผลไม้ เป็นต้น
นอกจากนี้คุณแม่ยังควรออกกำลังกายแบบเบาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการคลอด หากคุณแม่รู้สึกไม่สบายตัว ปวดเมื่อยร่างกาย คุณแม่ควรลองเทคนิคจากการทำกายภาพบำบัด นั่นคือ การประคบร้อน การประคบเย็น การกดจุดด้วยฝ่ามือหรือลูกเทนนิสบริเวณจุดที่ปวด ถือเป็นการบรรเทาอาการปวดเมื่อยร่างกาย โดยเฉพาะอาการปวดหลังได้ด้วยตัวเองที่ปลอดภัยและทำได้ง่าย
+ To Do: Purchase infant car seat
+ To do: Discuss treatment options for depression