IN THIS SECTION
- พัฒนาการของทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 38
- การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่
- อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 38
- คำแนะนำสำหรับคุณแม่
พัฒนาการของทารกในครรภ์ในสัปดาห์ที่ 38
My Baby This Week
ในช่วงสัปดาห์ที่ 38 นี้ ลูกน้อยของท่านจะมีพัฒนาการทางด้านร่างกายที่ใกล้สมบูรณ์ โดยมีขนาดความยาวของร่างกายประมาณ 43.2 เซนติเมตร ถึง 50.8 เซนติเมตร หรือ 17 นิ้ว ถึง 20 นิ้ว และมีน้ำหนักตั้งแต่ 2.8 กิโลกรัม ถึง 3.4 กิโลกรัม หรือ 6.25 ปอนด์ ถึง 7.5 ปอนด์ ขนาดใกล้เคึยงกับแตงโมลูกเล็กๆ (Mini watermelon)
สำหรับอวัยวะภายในร่างกายของทารกในช่วงสัปดาห์ที่ 38 นี้ ถือได้ว่าอวัยวะภายในส่วนใหญ่พัฒนาจนสมบูรณ์และทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพแล้ว ยกเว้นส่วนสมอง ซึ่งจะทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพจริงๆภายนอกครรภ์ (Womb) และจะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆตลอดระยะเวลาการเติบโตของวัยเด็ก (Childhood) และปอดที่ยังพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็พร้อมใช้งาน โดยทารกสามารถร้องไห้ได้แล้วจากพัฒนาการของปอดและเส้นเสียง นอกจากนี้ภายในปอดยังมีการเร่งผลิตสารลดแรงตึงผิวอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการหายใจภายนอกครรภ์
พัฒนาการที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งคือขนอ่อน (Lanugo) ของทารกที่ร่วงออกจากร่างกายเกือบหมดแล้ว และทารกจะเริ่มกลืนน้ำคร่ำ (Amniotic fluid) ที่มีเซลล์ที่ตายแล้วและของเสียอื่นๆรวมอยู่ด้วย น้ำคร่ำร่วมกับของเสียเหล่านี้จะเข้าไปสู่ลำไส้ของทารกและเริ่มเกิดกระบวนการสร้างขี้เทา (Meconium) หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่าอุจจาระของทารกในครรภ์
สุขภาพของทารกในช่วงสัปดาห์ที่ 38
Baby's Health
สัปดาห์ที่ 38 เป็นสัปดาห์ที่สำคัญ เนื่องจากสามารถเกิดการคลอดก่อนกำหนด (Preterm birth)ได้ สำหรับทารกที่คลอดก่อนกำหนดนั้น จากสถิติพบว่ามีโอกาสเสี่ยงในการมีปัญหาสุขภาพสูงกว่าทารกที่คลอดตามกำหนด (Full term) ซึ่งมีอายุครรภ์ 39 สัปดาห์ ถึง 40 สัปดาห์ โดยปัญหาสุขภาพที่นักวิจัยประจำวารสารทางการแพทย์ประเทศอังกฤษ (British Medical Journal) ค้นพบเป็นจำนวนมาก คือ โรคหอบหืดและโรคเกี่ยวกับระบบหายใจ
วิธีลดความเสี่ยงในการคลอดทารกก่อนกำหนด มีหลายวิธีอันประกอบไปด้วย การรักษาน้ำหนักของคุณแม่ให้อยู่ในเกณฑ์ที่แพทย์กำหนด หมั่นขยับร่างกาย หลีกเลี่ยงการเกิดภาวะเครียด และ ไม่สูบบุหรี่ เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 38
My Body
ในช่วงสัปดาห์นี้ คุณแม่อาจเกิดอาการเท้าบวม (Edema) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการตั้งครรภ์ในช่วงระยะสุดท้าย อย่างไรก็ตาม หากพบอาการบวมที่ผิดปกติหรือบวมอย่างกระทันหันบริเวณ มือ ใบหน้า เท้า หรือ ข้อเท้า ควรพบสูตินรีแพทย์ (Obstetricians) เพื่อขอคำปรึกษา เนื่องจากอาการนี้อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความเสี่ยงในการเกิดครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia)
นอกจากนี้ คุณแม่หลายท่านจะสามารถรู้สึกได้ว่าทารกในครรภ์มีการเคลื่อนตัวลงมาสู่ช่วงกระดูกเชิงกราน (Pelvic) ทำให้รูปร่างของท้องนั้นเปลี่ยนไป เปลี่ยนเป็นลักษณะท้องที่หย่อนมากกว่าสัปดาห์ก่อนๆ ซึ่งอาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว รู้สึกลำบากเวลานั่ง นอน หรือแม้แต่ยืนเป็นเวลานาน
อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 38
Signs & Common Symptoms of Pregnancy
1. อาการปัสสาวะบ่อย ในช่วงนี้คุณแม่ควรดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ
2. อาการนอนหลับยาก นอกจากขนาดของท้องที่ใหญ่ขึ้นจนทำให้คุณแม่นอนหลับได้ยากขึ้นแล้ว ต้นเหตุของอาการอาจรวมไปถึงความกังวล การคิดมาก คุณแม่ควรหากิจกรรมที่ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีอย่างเช่นการอ่านหนังสือหรือการอ่านแมกกาซีน จะช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลายและหลับง่ายขึ้น
3. อาการปวดศีรษะ หน้ามืด
4. ภาวะเมือกปิดปากมดลูกตก (Mucous plug) มีลักษณะเป็นก้อนเหนียวสีใส ปิดปากมดลูก (Cervix) ตลอดการตั้งครรภ์ ซึ่งการตกนี้เกิดขึ้นได้เป็นปกติและมักเกิดเมื่ออายุครรภ์เข้าสู่ช่วงใกล้คลอด โดยการตกของเมือกนี้เป็นสัญญาณว่าปากมดลูกของคุณแม่เริ่มการขยายตัวแล้ว (Cervix dilation)
5. อาการท้องเสีย หากคุณแม่มีอาการนี้ คุณแม่ควรดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอและทานอาหารที่ย่อยง่ายอย่าง ซุป โจ๊ก ข้าวต้ม
6. อาการน้ำนมไหล ซึ่งอาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อในช่วงสัปดาห์ใกล้คลอด คุณแม่อาจมีน้ำนมเหลืองไหล (Colostrum) ออกมา คุณแม่ควรเตรียมรับมือด้วยบราที่เหมาะสมและใส่สำลีที่ซับน้ำได้ดีไว้ในบรา
7. อาการเจ็บครรภ์หลอก (Braxton Hicks contractions) ซึ่งเป็นการบีบตัวของมดลูกประมาณ 30 วินาที ถึง 2 นาที ซึ่งในช่วงอายุครรภ์ 38 สัปดาห์ คุณแม่จะมีอาการเจ็บครรภ์หลอกที่มีความถี่มากขึ้น คุณแม่ควรเริ่มฝึกการหายใจเข้า-ออก เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด (Labor) หากอาการเจ็บครรภ์หลอกเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและถี่มากกว่าปกติคุณแม่ควรพบแพทย์ทันทีเนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนด
การดูแลสุขภาพและการปฏิบัติตัวของคุณแม่
The Doc Says
ในช่วงสัปดาห์ที่ 38 นี้ คุณแม่ควรออกไปเดินข้างนอกให้มากขึ้น โดยการเดินด้วยระยะทางที่ยาวอาจช่วยให้ศีรษะของลูกน้อยขยับมาอยู่ที่บริเวณเชิงกรานได้ ช่วยให้การคลอดของคุณแม่ง่ายมากขึ้น และคุณแม่ควรลองสควอท การออกกำลังกายแบบย่อตัวลงเล็กน้อยเป็นการบริหารกล้ามเนื้อต้นขาและก้น เพื่อเป็นการเพิ่มความแข็งแรงให้ร่างกายส่วนล่างก่อนการคลอดจริง
นอกจากการออกกำลังกายและทานอาหารให้ครบห้าหมู่แล้ว คุณแม่ควรทำอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนใส่กล่องและใส่ตู้เย็นในช่องแช่แข็งเตรียมไว้ เมื่อพาลูกน้อยกลับบ้านจะได้มีเวลาดูแลลูกน้อยอย่างเต็มที่ และเตรียมกระเป๋าสำหรับการไปคลอดที่โรงพยาบาล โดยกระเป๋าควรมีของใช้ส่วนตัวของคุณแม่ และของลูกน้อย เช่น เสื้อผ้า ผ้าอ้อม ตุ๊กตา เป็นต้น
+ To Do: Make a decision about circumcision