IN THIS SECTION
- พัฒนาการของทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 36
- การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่
- อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 36
- คำแนะนำสำหรับคุณแม่
พัฒนาการของทารกในครรภ์ในสัปดาห์ที่ 36
My Baby This Week
ในช่วงสัปดาห์ที่ 36 นี้ ลูกน้อยของคุณแม่คุณพ่อจะมีขนาดความยาวของร่างกายประมาณ 44.5 เซนติเมตร ถึง 48.3 เซนติเมตร หรือ 17.5 นิ้ว ถึง 19 นิ้ว และมีน้ำหนักประมาณ 2.6 กิโลกรัม ถึง 3.1 กิโลกรัม หรือ 5.75 ปอนด์ ถึง 6.75 ปอนด์ ขนาดจะใกล้เคียงกับผักคะน้า 1 กำ (A bunch of kale) โดยในช่วงอายุครรภ์ 36 สัปดาห์นี้ทารกจะมีผิวที่อมชมพูมากขึ้น และมีลักษณะอวบอ้วน ซึ่งเป็นลักษณะของเด็กแรกเกิด (Newborn)
ในช่วงนี้พัฒนาการด้านอวัยวะภายนอกร่างกายของทารกจะพัฒนาช้าลงแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีด้วยเหตุผลสองประการ ประการแรกคือการที่ทารกเริ่มเติบโตช้าลงในช่วงนี้ เป็นสัญญาณว่าทารกกำลังเก็บพลังงาน ไว้ใช้ระหว่างการคลอด (Labor) และการใช้ชีวิตภายนอกครรภ์ อีกประการหนึ่งคือ หากทารกเติบโตไปมากกว่านี้ จะทำให้การคลอดเป็นไปได้ยากมากขึ้น เนื่องจากส่วนศีรษะและลำตัวของทารกมีโอกาสติดบริเวณช่องคลอด (Birth canal) ได้
พัฒนาการสำคัญที่เกิดขึ้นภายในร่างกายของทารกในช่วงนี้คือ ระบบไหลเวียนโลหิต ได้พัฒนาจนสมบูรณ์และพร้อมใช้งานเต็มประสิทธิภาพแล้ว และ ระบบภูมิคุ้มกัน (Immune System) ก็พร้อมใช้งาน เพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคภายนอกครรภ์แล้วเช่นกัน
นอกจากนี้ ในช่วงสัปดาห์นี้ทารกยังมีพัฒนาการที่น่าสนใจอีกส่วนหนึ่งนั่นคือประสาทการได้ยิน ที่สามารถรับรู้และจำแนก เสียงต่างๆได้แล้ว ผลการวิจัยยังเผยอีกว่าทารกสามารถรับรู้และจดจำเสียงของคุณแม่คุณพ่อได้ รวมไปถึงเสียงเพลงที่เคยได้ฟัง
สุขภาพของทารกในช่วงสัปดาห์ที่ 36
Baby's Health
ในช่วงสัปดาห์ใกล้คลอดนี้ คุณหมอหลายท่านจะนัดพบคุณแม่ทุกสัปดาห์ โดยอาจทำการอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เพื่อติดตามผลการเติบโตของทารก รวมไปถึงอัตราการเต้นของหัวใจ ลักษณะของรก (Placenta) และท่าทางของทารก ซึ่งในช่วงสัปดาห์นี้ควรอยู่ในลักษณะหัวลง (Head down) ซึ่งเป็นท่าเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด
หากคุณแม่ยังไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรน (Whooping cough) หรือเรียกว่า Tdap ระหว่างการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรพิจารณาเข้ารับการฉีดวัคซีนก่อนหมดช่วงที่สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ ซึ่งสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์สุดท้าย โดยศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention – CDC) ได้แนะนำให้คุณแม่ฉีดวัคซีน Tdap ขณะตั้งครรภ์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อลูกน้อยในครรภ์ มากกว่าการฉีดวัคซีนให้กับคุณแม่หลังคลอด เนื่องจากวัคซีนจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์กว่าจะเริ่มผลิตสารภูมิต้านทานในร่างกาย ดังนั้นแม้คุณแม่จะไม่ส่งต่อโรคไอกรนไปให้ลูกน้อยในช่วง 2 เดือนแรกก่อนลูกน้อยรับการฉีดวัคซีนครั้งแรก แต่ลูกน้อยก็อาจรับเชื้อโรคไอกรนจากผู้อื่นได้ในช่วงที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน
นอกจากนี้คุณหมอยังอาจให้คุณแม่รับการตรวจการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ปบี (Group B Strep test) ขณะตั้งครรภ์ เพื่อให้มั่นใจว่าทารกที่จะเกิดมานั้นจะไม่เสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพ
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 36
My Body
ในช่วงอายุครรภ์ 36 สัปดาห์ น้ำหนักของคุณแม่จะเพิ่มจากน้ำหนักก่อนตั้งครรภ์ประมาณ 9 กิโลกรัม ถึง 13 กิโลกรัม หรือ 20 ปอนด์ ถึง 30 ปอนด์ โดยน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นและขนาดของท้องที่ใหญ่มากขึ้นในช่วงนี้จะทำให้คุณแม่บางท่านเริ่มมีท่าทางการเดินที่เปลี่ยนไป ที่เป็นลักษณะการเดินต้วมเตี้ยม คล้ายการเดินของนกเพนกวิน ซึ่งการเดินแบบนี้จะช่วยให้คุณแม่หาสมดุลในการเดินได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ คุณแม่หลายท่านยังอาจรู้สึกเจ็บบริเวณเชิงกราน (Pelvic pain) เนื่องจากศีรษะของทารกเริ่มหย่อนลงมาใกล้บริเวณช่องคลอดมากขึ้นเรื่อยๆ และมดลูก (Uterus) มีน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความลำบากและไม่สบายตัวขณะเดิน คุณแม่สามารถบรรเทาอาการปวดเชิงกรานได้ด้วยการออกกำลังกายบริเวณเชิงกราน (Pelvic exercise) การแช่น้ำอุ่น การประคบร้อน และ การนวด เป็นต้น
อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 36
Signs & Common Symptoms of Pregnancy
1. อาการเจ็บครรภ์หลอก (Braxton Hicks contractions) ซึ่งเป็นการบีบตัวของมดลูกประมาณ 30 วินาที ถึง 2 นาที ซึ่งในช่วงอายุครรภ์ 36 สัปดาห์คุณแม่จะมีอาการเจ็บครรภ์หลอกที่มีความถี่มากขึ้น ถือเป็นภาวะเจ็บครรภ์เตือน (False labor – False alarm) แต่หากคุณแม่มีอาการเจ็บครรภ์หลอกที่รุนแรงและถี่กว่าปกติ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา
2. อาการตกขาว (Vaginal discharge) ซึ่งเกิดขึ้นได้เป็นปกติและมักเกิดเมื่ออายุครรภ์เข้าสู่ช่วง 36 สัปดาห์ โดยมักมีสีอมชมพูหรือในบางกรณีมีเลือด ปนออกมาด้วยเนื่องจากปากมดลูก (Cervix) นั้นระคายเคืองง่ายกว่าปกติ
3. อาการเท้าและข้อเท้าบวม ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ชัดเจนในสัปดาห์นี้ โดยไม่เพียงแต่บริเวณเท้าและข้อเท้าเท่านั้นที่มีอาการบวม แต่มือ นิ้วมือ และ ใบหน้า อาจมีอาการบวมด้วย คุณแม่ควรดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอเพื่อช่วยในการขับถ่ายโซเดียม และของเสียอื่นๆออกจากร่างกายเพื่อลดอาการบวม
4. อาการท้องอืด ซึ่งจะทำให้คุณแม่ผายลมและเรอบ่อยมากขึ้น ดังนั้นคุณแม่ควรทานอาหารให้ช้าลง เพื่อลดการรับลมส่วนเกินทางปาก
การดูแลสุขภาพและการปฏิบัติตัวของคุณแม่
The Doc Says
ในช่วงสัปดาห์ใกล้คลอดนี้คุณแม่ควรเริ่มศึกษาวิธีการปฐมพยาบาลเพื่อช่วยเหลือเด็กแรกเกิดที่หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น หรือที่เรียกว่า CPR (Cardiopulmonary Resuscitation) หรือเข้ารับการอบรมที่โรงพยาบาลโดยแพทย์และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเป็นการเตรียมตัวหากเกิดเหตุฉุกเฉิน
นอกจากนี้คุณแม่ยังควรแบ่งมื้ออาหารให้เล็กลงแต่มีจำนวนมื้อที่เพิ่มมากขึ้น และทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามิน บี6 (Vitamin B6 – Pyridoxine) ซึ่งสามารถพบได้มากในกล้วย อะโวคาโด ข้าวกล้อง ถั่วเหลือง ข้าวโอ๊ต ผักโขม แตงโม เนื้อสัตว์ ฯลฯ เพื่อช่วยให้ร่างกายดูดซึมโปรตีนได้ดีมากขึ้น ร่างกายของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์สามารถนำโปรตีนไปใช้ได้มากขึ้น โดยเฉพาะในทารก ซึ่งโปรตีนมีส่วนสำคัญในการช่วยสร้างเซลล์ รวมไปถึงการพัฒนาสมอง และ ระบบประสาท
+ M.D. Visit Planner: Discuss episiotomy
+ To Do: Join breastfeeding education support group