IN THIS SECTION
- พัฒนาการของทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 30
- การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่
- อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 30
- คำแนะนำสำหรับคุณแม่
พัฒนาการของทารกในครรภ์ในสัปดาห์ที่ 30
My Baby This Week
ในช่วงสัปดาห์ที่ 30 นี้ ลูกน้อยของคุณแม่คุณพ่อจะมีขนาดความยาวของร่างกายประมาณ 38.5 เซนติเมตร หรือ 15.15 นิ้ว และมีน้ำหนักประมาณ 1.4 กิโลกรัม หรือ 3 ปอนด์ ขนาดใกล้เคียงกับบล็อกโคลี่ 1 พวง (A bunch of broccoli) และมีเส้นผมปกคลุมเกือบทั้งศีรษะ และจะค่อยๆพัฒนาสัดส่วนของร่างกายไปอย่างต่อเนื่อง โดยทารกจะมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น 2-3 กรัม หรือ 0.5 ปอนด์ ต่อสัปดาห์ ไปอีก 7 สัปดาห์ นับจากสัปดาห์ที่ 30 เป็นต้นไป
สำหรับอวัยวะภายในร่างกายของทารกที่พัฒนาในช่วงการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 30 นั้น ได้แก่ ดวงตาของทารกที่พัฒนาจนเกือบสมบูรณ์แล้ว โดยทารกสามารถที่จะแยกความแตกต่างระหว่าง ความสว่าง กับ ความมืด ได้ และ มือที่พัฒนาจนสมบูรณ์ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้เมื่อทำการอัลตราซาวด์ (Ultrasound)
อวัยวะสำคัญที่พัฒนาในช่วงนี้มี 2 ส่วนคือ สมอง ที่ในช่วงสัปดาห์นี้ สมองของทารกจะเริ่มสร้างรอยหยักเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของเนื้อเยื่อสมอง และ ไขกระดูกของทารก จะเริ่มผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง แทนที่การผลิตจากกลุ่มมัดเนื้อเยื่อ และม้าม ซึ่งต้องพัฒนาไปทำหน้าที่สำคัญอื่นๆต่อไปในสัปดาห์ภายหน้า
สุขภาพของทารกในช่วงสัปดาห์ที่ 30
การตรวจอัลตราซาวด์ ในช่วงนี้ถือว่าไม่ใช่สิ่งสำคัญนัก แต่สูตินรีแพทย์ (Obstetricians) อาจแนะนำให้เข้าตรวจเพื่อดูพัฒนาการการเจริญเติบโตของทารก (Fetal development) ซึ่งการตรวจอัลตราซาวด์ในช่วงอายุครรภ์ 30 สัปดาห์ จะสามารถเห็นรูปร่างใบหน้าของทารกได้ชัดขึ้น รวมไปถึงมือ และดวงตาที่อาจกำลังเปิดอยู่
นอกเหนือจากการตรวจอัลตราซาวด์แล้ว คุณแม่ยังต้องตรวจ Fetal Non-Stress Test ซึ่งเป็นการตรวจโดยใช้เข็มขัดคาดที่หน้าท้องของคุณแม่เพื่อวัดอัตราการเต้นของหัวใจลูกน้อย และเข็มขัดอีกสายหนึ่งจะทำการวัดการบีบตัวของมดลูก (Contractions) ซึ่งการตรวจนี้สามารถบอกได้ว่าทารกได้รับออกซิเจน เพียงพอหรือไม่ และ ทารกอยู่ในภาวะเครียด (Fetal distress) หรือไม่
วิธีลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะเครียดในทารก
โดยภาวะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อทารกได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอขณะอยู่ในครรภ์ (Womb) ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงได้ดังนี้ ดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอ ฝึกหายใจเข้าออกเพื่อให้ร่างกายได้รับออกซิเจนในปริมาณที่เพียงพอ เปลี่ยนท่าทางการนั่ง นอน ยืน เดิน
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 30
My Body
ในช่วงสัปดาห์นี้ คุณแม่จะเริ่มรู้สึกต้องการปัสสาวะบ่อยขึ้น และอาจรู้สึกเหนื่อยง่ายขึ้น ซึ่งอาการเหนื่อยง่ายนี้เป็นผลจากอาการหลับยาก คุณแม่ควรเข้านอนให้เร็วขึ้น ปรับเปลี่ยนท่านอนให้สบายตัวมากที่สุด
นอกจากนี้ คุณแม่อาจรู้สึกเสียความสมดุลของร่างกาย เนื่องจากศูนย์ถ่วง ในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงจากขนาดท้องที่ใหญ่ขึ้น
อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 30
Signs & Common Symptoms of Pregnancy
1. อาการแสบร้อนกลางอก ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นเป็นปกติสำหรับคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 30 สัปดาห์ โดยสามารถลดการเกิดอาการแสบร้อนกลางอกได้โดย การลดอาหารที่มีรสเผ็ด ลดอาหารที่มีไขมันสูง และหลีกเลี่ยงการทานช็อคโกแลต คุณแม่ควรทานอาหารเป็นมื้อเล็กๆหลายมื้อแทนการทานอาหารมื้อใหญ่ และไม่นอนทันทีหลังทานอาหารหรือขนม เพื่อลดอาการกรดไหลย้อน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการแสบร้อนกลางอก
2. อาการเท้าและข้อเท้าบวม ซึ่งเกิดขึ้นเป็นปกติ โดยประมาณ 75 เปอร์เซนต์ของหญิงมีครรภ์มีอาการข้อเท้าบวม โดยสามารถลดอาการข้อเท้าบวมได้ด้วยการนั่งหรือนอนราบและยกเท้าขึ้นแล้วหนุนด้วยหมอน
3. อาการท้องผูก สามารถลดอาการท้องผูกได้ด้วยการดื่มน้ำให้มากขึ้น ทานอาหารที่มีเส้นใยอาหาร และทานอาหารที่มีแบคทีเรียโปรไบโอติกส์ ซึ่งสามารถหาได้ง่ายในโยเกิร์ต
4. อาการอารมณ์แปรปรวน (Pregnancy mood swings) ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น ภาวะเครียด ภาวะเหนื่อยล้า ภาวะฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง เป็นต้น โดยสามารถลดอาการอารมณ์แปรปรวนได้ด้วยวิธีดังนี้ พยายามนอนหลับให้เพียงพอ ทานอาหารให้ครบห้าหมู่ นั่งสมาธิ ออกกำลังกายระดับเบาอย่าง การเดิน หากคุณแม่มีอาการอารมณ์แปรปรวนนานถึง 2 สัปดาห์ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา
การดูแลสุขภาพและการปฏิบัติตัวของคุณแม่
The Doc Says
ในช่วงการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 30 คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง และใส่รองเท้าส้นแบนแทน ควบคู่ไปกับการลดการทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก เนื่องจากจะทำให้เกิดอาการออกซิเจนไม่เพียงพอและหน้ามืดได้
นอกจากนี้คุณแม่ควรตรวจสอบผลิตภัณฑ์ประทินผิว หากในผลิตภัณฑ์นั้นมีส่วนผสมของ วิตามิน เอ วิตามิน บี และ กรดบีเอชเอ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ และปรึกษาแพทย์ของท่านก่อนว่าสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ตัวไหนได้บ้าง
+ To Do: Begin thinking about baby names