IN THIS SECTION
- พัฒนาการของทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 27
- การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่
- อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 27
- คำแนะนำสำหรับคุณแม่
พัฒนาการของทารกในครรภ์ในสัปดาห์ที่ 27
My Baby This Week
สัปดาห์นี้ ทารกในครรภ์มีความยาว วัดจากศีรษะจรดปลายเท้าประมาณ 36.6เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 875กรัม หรือมีขนาดเท่ากับกะหล่ำปลี (Cabbage)
ทารกในสัปดาห์นี้มีการพัฒนาที่สำคัญหลายประการ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการให้กำเนิดในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า สิ่งแรกที่สังเกตเห็นได้คือ ทารกสามารถหลับตาและลืมตาได้เองแล้ว หัวใจจะเริ่มเต้นช้าลงอยู่ที่ประมาณ140 ครั้งต่อนาที และที่สำคัญคือ ทารกเรียนรู้ที่จะหายใจทางปอดได้แล้ว
นอกจากนี้ ร่างกายของทารกจะสะสมไขมันมากยิ่ง ทำให้ผิวหนังที่เหี่ยวย่นเริ่มเต่งตึง ในขณะที่อวัยวะส่วนใหญ่ทำงานตามระบบและยังคงพัฒนาสู่ขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่ทารกจะถือกำเนิด
การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 27
My Body
เมื่อการตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่3 ใกล้เข้ามา คุณแม่อาจรู้สึกว่ามีการบีบรัดของมดลูกเป็นจังหวะ แต่ไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด นี่คือการเจ็บครรภ์เตือน หรือ การเจ็บครรภ์หลอก (Braxton Hicks Contraction) ซึ่งเป็นการซ้อมของกล้ามเนื้อมดลูกเพื่อเตรียมตัวสำหรับการคลอด อาการนี้ไม่น่ากังวล และมักเกิดขึ้นไม่นานและหายไปเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถ แต่หาก
คุณแม่รู้สึกเจ็บปวดขณะที่เกิดการบีบ หรือมีอาการต่อเนื่องไม่หายไป ควรรีบพบแพทย์ทันที
อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 27
Signs & Common Symptoms of Pregnancy
อาการที่คุณแม่มักพบเจอในช่วงสัปดาห์นี้ ได้แก่
- วิตกกังวล เครียดง่าย
- ริดสีดวงทวาร ซึ่งเกิดจากฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นทำให้เส้นเลือดบริเวณทวารหนักบวม และอาจทำให้ขับถ่ายลำบาก
- ปวดบริเวณอุ้งเชิงกรานและหัวเหน่า
- ปวดหลัง
- เหงือกบวมและเลือดออกง่ายขณะแปรงฟัน
- รู้สึกเจ็บปวดบริเวณด้านข้างของหน้าท้อง เนื่องจากกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นยืดตัวเพื่อรองรับมดลูกที่โตขึ้น
- หายใจลำบาก
- เป็นตะคริวบริเวณขา โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน
- ภาวะโลหิตจาง
- ปวดศีรษะ
- เลือดกำเดาไหล
- เจ็บหน้าอก
- เวียนศีรษะ
- ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ติดเชื้อในช่องคลอด
- รับประทานอาหารมากขึ้น
- ท้องอืด
- ท้องผูก
- แสบกลางอกจากรดไหลย้อน
- มีตกขาว ซึ่งตามปกติ จะมีสีขาวและไม่มีกลิ่น แต่ถ้ามีกลิ่นหรือสีเปลี่ยนไป หรือมีอาการคันผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์
- ผิวหนังบนใบหน้ามีสีคล้ำเป็นปื้นๆ หรือเป็นฝ้า เกิดจากฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง หลังคลอดจะหายไปเอง คุณแม่ไม่ต้องกังวล
- ผมดกขึ้นหรือขนหนาขึ้น
คำแนะนำสำหรับคุณแม่ในสัปดาห์ที่27
The Doc Says
- คำแนะนำในการปฏิบัติตัวและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางประการในสัปดาห์นี้มีดังนี้
- ·เข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการเตรียมตัวสำหรับการคลอด การดูแลสุขภาพ และการดูแลทารก โดยควรให้คุณพ่อได้มีส่วนร่วมด้วย
- ·ควรรับประทานอาหารในปริมาณน้อยๆ แต่บ่อยขึ้นเพื่อบรรเทาอาการท้องอืด และความอยากอาหารมากขึ้นกว่าปกติ โดยเน้นอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เพื่อสุขภาพที่ดีของทารกในครรภ์
- ·เตรียมวางแผนการลาคลอด โดยควรทำความเข้าใจกับหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงานเพื่อเคลียร์งานหรือในการเตรียมการทำงานในระหว่างที่คุณแม่ลาคลอด
- งดสูบบุหรี่
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ลดปริมาณเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนโดยปริมาณคาเฟอีนที่เหมาะสมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ คือ 200 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่า กาแฟสำเร็จรูป 2 แก้ว ต่อวัน การได้รับปริมาณคาเฟอีนที่มากเกินไปอาจส่งผลให้ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ หรืออาจเป็นสาเหตุของภาวะแท้งได้
- รับประทานอาหารที่อุดมด้วยวิตามินบี วิตามินซี โฟเลต และแคลเซียมอย่างเพียงพอ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควรออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 150นาที ต่อสัปดาห์
- หมั่นสร้างความสัมพันธ์กับทารกน้อยในครรภ์ด้วยการพูดคุย ร้องเพลง หรือสัมผัสท้อง และควรให้คุณพ่อและคนในครอบครัวมีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน
เรามาลุ้นกันต่อว่าในสัปดาห์ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นกับคุณแม่และลูกน้อยอีกบ้าง