IN THIS SECTION
- พัฒนาการของทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 25
- การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่
- อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 25
- คำแนะนำสำหรับคุณแม่
พัฒนาการของทารกในครรภ์ในสัปดาห์ที่ 25
My Baby This Week
สัปดาห์นี้ ทารกในครรภ์มีความยาว วัดจากศีรษะจรดปลายเท้าประมาณ 34.6 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 660กรัม หรือมีขนาดเท่าๆ กับผลมะเขือม่วง รวมทั้งยังเริ่มมีไขมันสะสมมากขึ้น แต่ยังไม่มากพอ จึงทำให้เห็นว่าผิวหนังยังคงเหี่ยวย่นอยู่บ้าง
ทารกที่มีขนาดตัวใหญ่ขึ้น และแข็งแรงขึ้นจะเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น โดยคุณแม่สามารถรู้สึกได้ถึงความเคลื่อนไหวหรืออาจเห็นความเคลื่อนไหวบนหน้าท้อง ซึ่งนั่นอาจเป็นไปได้ว่า ลูกน้อยในครรภ์อาจจะกำลังเตะขา แกว่งแขน หรือกำลังหมุนตัวไปรอบถุงน้ำคร่ำอยู่ แน่นอนว่า หากคุณแม่รู้สึกได้ถึงความเคลื่อนไหวนี้ ก็แสดงว่าทารกในครรภ์มีสุขภาพดี
ระบบสมองและระบบประสาทสัมผัสที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทารกสามารถตอบสนองต่อแสง เสียง และสัมผัสได้แล้ว และยังอาจเกิดอาการสะอึกจนคุณแม่สามารถรับรู้ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ทารกในครรภ์จะปล่อยปัสสาวะบ่อยขึ้น โดยปัสสาวะจะถูกปล่อยผ่านไปในน้ำคร่ำและจะถูกถ่ายออกผ่านทางรกที่ทำหน้าที่เป็นทั้งเครื่องลำเลียงสารอาหารสู่ทารก และระบบกำจัดของเสียด้วย
การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 25
My Body
ในช่วงนี้ มดลูกจะขยายตัวใหญ่ขึ้นจนมีขนาดประมาณเท่าลูกฟุตบอล และคุณแม่อาจพบว่ามีอาการบวมตามใบหน้า มือ และเท้า ที่มาสาเหตุมาจากภาวะคั่งของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย (Water Retention) โดยในช่วงตั้งครรภ์นั้น มดลูกที่ขยายตัวขึ้นจะไปกดทับเส้นเลือดบริเวณอุ้งเชิงกราน ทำให้การไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลือง ซึ่งจะต้องไหลเวียนย้อนกลับไปที่หัวใจ ทำหน้าที่ได้ไม่ดีพอ ส่งผลให้เลือดเกิดการคั่งอยู่บริเวณส่วนล่างของร่างกาย หรืออาจเกิดจากฮอร์โมนที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลทำให้เนื้อเยื่อต่างๆ มีการดูดซึมน้ำและกักเก็บน้ำมากกว่าปกติ
อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 25
Signs & Common Symptoms of Pregnancy
อาการที่คุณแม่มักพบเจอในช่วงสัปดาห์นี้ ได้แก่
- วิตกกังวล เครียดง่าย
- ริดสีดวงทวาร ซึ่งเกิดจากฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นทำให้เส้นเลือดบริเวณทวารหนักบวม และอาจทำให้ขับถ่ายลำบาก
- ปวดบริเวณอุ้งเชิงกรานและหัวหน่าว
- ปวดหลัง
- เหงือกบวมและเลือดออกง่ายขณะแปรงฟัน
- รู้สึกเจ็บปวดบริเวณด้านข้างของหน้าท้อง เนื่องจากกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นยืดตัวเพื่อรองรับมดลูกที่โตขึ้น
- หายใจลำบาก
- เป็นตะคริวบริเวณขา โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน
- ภาวะโลหิตจาง
- ปวดศีรษ
- เลือดกำเดาไหล
- เจ็บหน้าอก
- เวียนศีรษะ
- ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ติดเชื้อในช่องคลอด
- รับประทานอาหารมากขึ้น
- ท้องอืด
- ท้องผูก
- แสบกลางอกจากรดไหลย้อน
- มีตกขาว ซึ่งตามปกติ จะมีสีขาวและไม่มีกลิ่น แต่ถ้ามีกลิ่นหรือสีเปลี่ยนไป หรือมีอาการคันผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์
- ผิวหนังบนใบหน้ามีสีคล้ำเป็นปื้นๆ หรือเป็นฝ้า เกิดจากฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง หลังคลอดจะหายไปเอง คุณแม่ไม่ต้องกังวล
- ผมดกขึ้นหรือขนหนาขึ้น
คำแนะนำสำหรับคุณแม่ในสัปดาห์ที่25
The Doc Says
คำแนะนำในการปฏิบัติตัวและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางประการในสัปดาห์นี้มีดังนี้
- ควรรับประทานอาหารในปริมาณน้อยๆ แต่บ่อยขึ้นเพื่อบรรเทาอาการท้องอืด และความอยากอาหารมากขึ้นกว่าปกติ โดยเน้นอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เพื่อสุขภาพที่ดีของทารกในครรภ์
- เตรียมวางแผนการลาคลอด โดยควรทำความเข้าใจกับหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงานเพื่อเคลียร์งานหรือในการเตรียมการทำงานในระหว่างที่คุณแม่ลาคลอด
- งดสูบบุหรี่
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ลดปริมาณเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนโดยปริมาณคาเฟอีนที่เหมาะสมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ คือ 200 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่า กาแฟสำเร็จรูป 2 แก้ว ต่อวัน การได้รับปริมาณคาเฟอีนที่มากเกินไปอาจส่งผลให้ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ หรืออาจเป็นสาเหตุของภาวะแท้งได้
- รับประทานธาตุเหล็กอย่างเพียงพอ ซึ่งธาตุเหล็กจะมีส่วนช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง และป้องกันภาวะโลหิตจาง โดยปริมาณธาตุเหล็กที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับคือ 27-30มิลลิกรัมต่อวัน โดยอาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็ก ได้แก่ เนื้อแดงไร้มัน เนื้อหมู ถั่วแห้ง ผักโขม ผลไม้แห้ง จมูกข้าวสาลี และข้าวโอ๊ต เป็นต้น
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควรออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 150นาที ต่อสัปดาห์
- หมั่นสร้างความสัมพันธ์กับทารกน้อยในครรภ์ด้วยการพูดคุย ร้องเพลง หรือสัมผัสท้อง และควรให้คุณพ่อและคนในครอบครัวมีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน
+ To Do: Schedule meditation or yoga class
เรามาลุ้นกันต่อว่าในสัปดาห์ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นกับคุณแม่และลูกน้อยอีกบ้าง