IN THIS SECTION
- พัฒนาการของทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 24
- การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่
- อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 24
- คำแนะนำสำหรับคุณแม่
พัฒนาการของทารกในครรภ์ในสัปดาห์ที่ 24
My Baby This Week
สัปดาห์นี้ ทารกในครรภ์มีความยาว วัดจากศีรษะจรดปลายเท้าประมาณ 30 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 600 กรัม หรือมีขนาดเท่าๆ กับผลทับทิม (Pomegranate)
รูปร่างของทารก ทั้งขนาดความยาวของแขน ขา และขนาดของศีรษะปรับเปลี่ยนจนได้สัดส่วนที่เหมาะสมเรียบร้อย และดูเหมือนทารกแรกเกิดมากยิ่งขึ้น เพียงแต่ยังตัวเล็กและผอมบางอยู่
อวัยวะหลักภายในต่างๆ พัฒนามาถึงเกณฑ์ที่สามารถทำงานได้ดีแล้ว สมองและระบบประสาทมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วมาก ปอดมีการสร้างเซลล์ของสารลดแรงตึงผิวในปอด เพื่อช่วยในการหายใจหลังจากที่ออกมาลืมตาดูโลกแล้ว
หูชั้นในที่ควบคุมการทรงตัวของทารกได้รับการพัฒนาสมบูรณ์แล้ว ทำให้ทารกรู้ตัวว่าตัวเองกำลังอยู่เคลื่อนที่ไปอยู่ในตำแหน่งใดในถุงน้ำคร่ำ
หากทารกคลอดก่อนกำหนดมาในช่วงนี้ ก็สามารถมีชีวิตรอดได้ แต่อาจยังมีความเสี่ยงของความพิการและโรคต่างๆ เนื่องจากปอดยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ทำให้ระบบการหายใจของทารกที่คลอดก่อนกำหนดมีปัญหา
การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 24
My Body
คุณแม่อาจรู้สึกหิวบ่อยขึ้น แต่ไม่จำเป็นที่คุณแม่ต้องรับประทานอาหารในปริมาณมากกว่าเดิมจนกว่าจะเข้าสู่ช่วงไตรมาสที่3คุณแม่ยังคงได้รับพลังงานอย่างเพียงพอ แม้รับประทานในปริมาณตามปกติ การได้รับพลังงานที่มากเกินไป อาจเกิดภาวะน้ำหนักเกิน และ ภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งอาจส่งผลให้ทารกแรกเกิดมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และอาจส่งผลให้ทารกในครรภ์มีขนาดตัวใหญ่เกินกว่าเกณฑ์จนจำเป็นต้องอาศัยการผ่าคลอด
ฮอร์โมนตั้งครรภ์ยังคงส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่อย่างต่อเนื่อง โดยในระยะนี้ ฮอร์โมนจะทำให้
เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อทั่วร่างกายคลายตัวเพื่อรองรับการขยายตัวของมดลูกและทารกในครรภ์ อาจทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บปวดตามร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นบริเวณหน้าท้อง หลังล่าง ซี่โครง หน้าอก และสะโพก
นอกจากนี้ คุณแม่ยังอาจพบด้วยว่าสภาพเส้นผมเปลี่ยนแปลงไป เช่น เส้นผมจะตรงขึ้น หยิกขึ้น หรือเปราะบางมากยิ่งขึ้น เพื่อแก้ปัญหากวนใจเหล่านี้ คุณแม่อาจบำรุงเส้นผมเป็นพิเศษโดยการใช้น้ำมันมะกอก หรือน้ำมันมะพร้าวชโลมให้ทั่วศีรษะ ปล่อยทิ้งไว้สักพักแล้วล้างออกให้สะอาด
อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 24
Signs & Common Symptoms of Pregnancy
อาการที่คุณแม่มักพบเจอในช่วงสัปดาห์นี้ ได้แก่
- วิตกกังวล เครียดง่าย
- ริดสีดวงทวาร ซึ่งเกิดจากฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นทำให้เส้นเลือดบริเวณทวารหนักบวม และอาจทำให้ขับถ่ายลำบาก
- ปวดบริเวณอุ้งเชิงกรานและหัวหน่าว
- เหงือกบวมและเลือดออกง่ายขณะแปรงฟัน
- รู้สึกเจ็บปวดบริเวณด้านข้างของหน้าท้อง เนื่องจากกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นยืดตัวเพื่อรองรับมดลูกที่โตขึ้น
- หายใจลำบาก
- เป็นตะคริวบริเวณขา โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน
- ภาวะโลหิตจาง
- ปวดศีรษะ
- เลือดกำเดาไหล
- เจ็บหน้าอก
- เวียนศีรษะ
- ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ติดเชื้อในช่องคลอด
- มือและเท้าบวม
- รับประทานอาหารมากขึ้น
- ท้องอืด
- ท้องผูก
- แสบกลางอกจากรดไหลย้อน
- มีตกขาว ซึ่งตามปกติ จะมีสีขาวและไม่มีกลิ่น แต่ถ้ามีกลิ่นหรือสีเปลี่ยนไป หรือมีอาการคันผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์
- ผิวหนังบนใบหน้ามีสีคล้ำเป็นปื้นๆ หรือเป็นฝ้า เกิดจากฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง หลังคลอดจะหายไปเอง คุณแม่ไม่ต้องกังวล
- ผมดกขึ้นหรือขนหนาขึ้น
คำแนะนำสำหรับคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 24
The Doc Says
ระหว่างสัปดาห์ที่ 24-28 แพทย์มักให้แนะนำให้คุณแม่เข้ารับการตรวจคัดกรองเบาหวาน (Glucose Screening Test) เพื่อตรวจหาความเสี่ยงของโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes)โดยสัญญาณและอาการที่บ่งชี้ถึงโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ได้แก่
- มีน้ำตาลปนออกมากับปัสสาวะ (ทราบได้จาการตรวจปัสสาวะ)
- กระหายน้ำมากผิดปกติ
- มีอาการอ่อนเพลีย ล้า
- อาเจียน
- นอกจากนี้ ยังมีคำแนะนำในการปฏิบัติตัวและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางประการ ดังนี้
- เตรียมวางแผนการลาคลอด โดยควรทำความเข้าใจกับหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงานเพื่อเคลียร์งานหรือในการเตรียมการทำงานในระหว่างที่คุณแม่ลาคลอด
- งดสูบบุหรี่
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ลดปริมาณเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนโดยปริมาณคาเฟอีนที่เหมาะสมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ คือ 200 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่า กาแฟสำเร็จรูป 2 แก้ว ต่อวัน การได้รับปริมาณคาเฟอีนที่มากเกินไปอาจส่งผลให้ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ หรืออาจเป็นสาเหตุของภาวะแท้งได้
- รับประทานธาตุเหล็กอย่างเพียงพอ ซึ่งธาตุเหล็กจะมีส่วนช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง และป้องกันภาวะโลหิตจาง โดยปริมาณธาตุเหล็กที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับคือ27-30 มิลลิกรัมต่อวัน โดยอาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็ก ได้แก่ เนื้อแดงไร้มัน เนื้อหมู ถั่วแห้ง ผักโขม ผลไม้แห้ง จมูกข้าวสาลี และข้าวโอ๊ต เป็นต้น
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควรออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 150 นาที ต่อสัปดาห์
- หมั่นสร้างความสัมพันธ์กับทารกน้อยในครรภ์ด้วยการพูดคุย ร้องเพลง หรือสัมผัสท้อง และควรให้คุณพ่อและคนในครอบครัวมีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน
เรามาลุ้นกันต่อว่าในสัปดาห์ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นกับคุณแม่และลูกน้อยอีกบ้าง
+ To Do: Schedule glucose challenge test
+ To Do: Purchase support stockings