IN THIS SECTION
- พัฒนาการของทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 23
- การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่
- อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 23
- คำแนะนำสำหรับคุณแม่
พัฒนาการของทารกในครรภ์ในสัปดาห์ที่ 23
My Baby This Week
สัปดาห์นี้ ทารกในครรภ์มีความยาว วัดจากศีรษะจรดปลายเท้าประมาณ 28.9 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 500 กรัม หรือมีขนาดเท่าๆ กับ ผลเกรฟฟรุ๊ต (Grapefruit) หรือ ขนอ่อนที่ปกคลุมอยู่ทั่วร่างกายจะมีสีที่เข้มขึ้น
ในช่วงนี้ คุณแม่อาจรับรู้ถึงความเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ได้ชัดเจนขึ้นและบ่อยครั้งขึ้น เนื่องจากทารกมีขนาดร่างกายใหญ่ขึ้น อีกทั้งระบบประสาทและกล้ามเนื้อก็แข็งแรงขึ้นมาก โดยคุณแม่อาจรู้สึกถึงการดิ้น การเตะต่อย และการกลิ้งตัวไปมาอยู่ภายใน โดยในช่วงนี้ ทารกจะเริ่มหลับหรือตื่นเป็นเวลาซึ่งคุณแม่สามารถสังเกตได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่เวลาเดียวกับ
คุณแม่เลย ในระหว่างวันคุณแม่อาจไม่รับรู้ถึงการเคลื่อนไหวของลูกน้อยในครรภ์ จนกระทั่งถึงเวลานอนที่ทารกลับตื่นมาทักทายด้วยการดิ้นอย่างต่อเนื่อง จนบางครั้งก็ทำให้คุณแม่นอนไม่หลับอยู่บ่อยๆ
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์นั้นเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ลูกน้อยของคุณมีสุขภาพดี ดังนั้นในช่วงนี้
คุณแม่ควรสังเกตหรือนับจำนวนการดิ้นของทารกในแต่ละวัน หากสังเกตว่าทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลงผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที
การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 23
My Body
ร่างกายของคุณแม่ยังคงเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ขนาดเต้านมที่ใหญ่ขึ้นอาจทำให้เกิดอาการตึงและเจ็บ ขณะที่ซี่โครงจะขยายออกเพื่อรองรับมดลูกที่ขยายตัวใหญ่ขึ้นตามขนาดทารกในครรภ์ อาจทำให้คุณแม่เกิดอาการเจ็บบริเวณซี่โครง และอาจหายใจลำบากได้เนื่องจากมดลูกไปกดทับปอด โดยเฉพาะเวลานอนราบ เพื่อบรรเทาปัญหานี้ แนะนำให้คุณแม่นอนตะแคง และใช้หมอนหนุนท้องหรือรองเข่าไว้เพื่อลดแรงกดทับขณะนอนหลับ ก็จะทำให้คุณแม่นอนหลับสบายขึ้น
นอกจากนี้ ผิวหนังของคุณแม่ในช่วงนี้มักแพ้และระคายเคืองง่าย ทั้งยังไวต่อแสงแดดมากขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดแรงๆ ระหว่างวัน หรือควรใช้ครีมกันแดด ใช้ร่ม และสวมเสื้อผ้าที่ปกป้องผิวจากแสงแดด
อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 23
Signs & Common Symptoms of Pregnancy
อาการที่คุณแม่มักพบเจอในช่วงสัปดาห์นี้ ได้แก่
- วิตกกังวล เครียดง่าย
- ริดสีดวงทวาร ซึ่งเกิดจากฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นทำให้เส้นเลือดบริเวณทวารหนักบวม และอาจทำให้ขับถ่ายลำบาก
- ปวดบริเวณอุ้งเชิงกรานและหัวหน่าว
- เหงือกบวมและเลือดออกง่ายขณะแปรงฟัน
- รู้สึกเจ็บปวดบริเวณด้านข้างของหน้าท้อง เนื่องจากกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นยืดตัวเพื่อรองรับมดลูกที่โตขึ้น
- หายใจลำบาก
- เป็นตะคริวบริเวณขา โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน
- ภาวะโลหิตจาง
- ปวดศีรษะ
- เลือดกำเดาไหล
- เจ็บหน้าอก
- เวียนศีรษะ
- ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ติดเชื้อในช่องคลอด
- มือและเท้าบวม
- รับประทานอาหารมากขึ้น
- ท้องอืด
- ท้องผูก
- แสบกลางอกจากรดไหลย้อน
- มีตกขาว ซึ่งตามปกติ จะมีสีขาวและไม่มีกลิ่น แต่ถ้ามีกลิ่นหรือสีเปลี่ยนไป หรือมีอาการคันผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์
- ผิวหนังบนใบหน้ามีสีคล้ำเป็นปื้นๆ หรือเป็นฝ้า เกิดจากฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง หลังคลอดจะหายไปเอง คุณแม่ไม่ต้องกังวล
- ผมดกขึ้นหรือขนหนาขึ้น
คำแนะนำสำหรับคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 23
The Doc Says
- เตรียมวางแผนการลาคลอด โดยควรทำความเข้าใจกับหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงานเพื่อเคลียร์งานหรือในการเตรียมการทำงานในระหว่างที่คุณแม่ลาคลอด
- งดสูบบุหรี่
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ลดปริมาณเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนโดยปริมาณคาเฟอีนที่เหมาะสมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ คือ 200 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่า กาแฟสำเร็จรูป 2 แก้ว ต่อวัน การได้รับปริมาณคาเฟอีนที่มากเกินไปอาจส่งผลให้ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ หรืออาจเป็นสาเหตุของภาวะแท้งได้
- รับประทานธาตุเหล็กอย่างเพียงพอ ซึ่งธาตุเหล็กจะมีส่วนช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง และป้องกันภาวะโลหิตจาง โดยปริมาณธาตุเหล็กที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับคือ 27-30มิลลิกรัมต่อวัน โดยอาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็ก ได้แก่ เนื้อแดงไร้มัน เนื้อหมู ถั่วแห้ง ผักโขม ผลไม้แห้ง จมูกข้าวสาลี และข้าวโอ๊ต เป็นต้น
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควรออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 150นาที ต่อสัปดาห์
- หมั่นสร้างความสัมพันธ์กับทารกน้อยในครรภ์ด้วยการพูดคุย ร้องเพลง หรือสัมผัสท้อง และควรให้คุณพ่อและคนในครอบครัวมีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน
เรามาลุ้นกันต่อว่าในสัปดาห์ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นกับคุณแม่และลูกน้อยอีกบ้าง
+ To Do: Purchase skin moisturiser
+ To do: Select some soothing music