IN THIS SECTION
- พัฒนาการของทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 22
- การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่
- อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 22
- คำแนะนำสำหรับคุณแม่
พัฒนาการของทารกในครรภ์ในสัปดาห์ที่ 22
My Baby This Week
สัปดาห์นี้ ทารกในครรภ์มีความยาว วัดจากศีรษะจรดปลายเท้าประมาณ 27.8 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 430 กรัม หรือมีขนาดพอๆ กับ พริกหยวกแดงหวาน (Red bell pepper)
ในช่วงนี้รูปร่างลักษณะภายนอกเริ่มดูเหมือนทารกแรกเกิดมากขึ้นทุกที เพียงแต่ยังมีขนาดเล็กอยู่ ริมฝีปาก เริ่มปรากฏให้เห็นชัดมากขึ้น ดวงตาพัฒนาสมบูรณ์แล้ว เพียงแต่ยังไม่เห็นสีนัยน์ตาเท่านั้นเอง เปลือกตา และคิ้วอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมแล้ว
ขณะเดียวกัน ตับอ่อน และปอด ก็พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทารกจะกลืนกินน้ำคร่ำลงไปและจะผ่านระบบขับถ่ายกลายเป็นอุจจาระซึ่งจะถูกขับถ่ายออกมาตอนแรกเกิด หรือที่รู้จักกันดีว่า “ขี้เทาทารก” (Meconium) ต่อมรับรสชาติในปากก็เริ่มพัฒนาในช่วงนี้ด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้น อาหารที่คุณแม่รับประทานเข้าไป ลูกน้อยก็อาจรับรสชาติได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ระบบสมองและประสาทพัฒนาอีกระดับ ทำให้ทารกสามารถรับรู้ถึงการสัมผัสได้แล้ว ทารกอาจลูบหน้าตัวเอง จับร่างกายส่วนต่างๆ หรือดูดนิ้วมือ
การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 22
My Body
- รอยแตกลาย เครื่องหมายของความเป็นแม่
คุณแม่บางคนอาจรู้สึกตื่นเต้นดีใจที่ท้องขยายใหญ่ขึ้น เพราะนั่นหมายความว่าลูกน้อยในครรภ์กำลังเจริญเติบโตอย่างดี
แต่ในขณะที่คุณแม่บางคนก็กลับรู้สึกกังวลเกี่ยวกับรอยแตกลายบนผิวหนังบริเวณต่างๆ ในร่างกาย ที่เกิดจากการฮอร์โมนตั้งครรภ์ รวมทั้งกล้ามเนื้อและผิวหนังบริเวณนั้นเกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็ว รอยแตกลายอาจปรากฏให้เห็นเป็นเส้นสีแดงหรือม่วง โดยรอยต่างๆ เหล่านี้จะดูจางลงหลังคลอด แต่อาจไม่หายไป วิธีที่คุณแม่สามารถทำได้ในช่วงนี้ คือการหมั่นทาครีมบำรุงที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม หรือส่วนผสมที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เพื่อรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนัง และป้องกันการระคายเคือง - น้ำนมไหล
คุณแม่อาจพบคราบน้ำนมบนเสื้อชั้นใน เพราะในช่วงนี้ ฮอร์โมนตั้งครรภ์จะไปกระตุ้นต่อมน้ำนมและท่อน้ำนมให้โตขึ้นเพื่อเตรียมตัวผลิตน้ำนมสำหรับทารกน้อยในอนาคต คุณแม่อาจต้องลองหาซื้อแผ่นซับน้ำนมมาใช้หากเกิดปัญหานี้ - การเจ็บครรภ์เตือน หรือ การเจ็บครรภ์หลอก (Braxton Hicks Contraction)
คุณแม่บางราย อาจรู้สึกได้ว่าเหมือนถูกบีบบริเวณท้อง แต่ไม่รู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างใด นี่เกิดจากการบีบตัวของมดลูก เพื่อเตรียมกล้ามเนื้อสำหรับการคลอด ไม่ได้มีอันตรายแต่อย่างใด โดยอาการนี้มักเกิดเกิดขึ้นเพียงไม่นาน และมักหายไปเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถ อย่างไรก็ตาม หากการบีบตัวทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บปวด และเกิดการบีบถี่ขึ้น และต่อเนื่องขึ้น นั่นอาจเป็นสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนด ควรรีบพบแพทย์ทันที
อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 22
Signs & Common Symptoms of Pregnancy
อาการที่คุณแม่มักพบเจอในช่วงสัปดาห์นี้ ได้แก่
- ริดสีดวงทวาร ซึ่งเกิดจากฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นทำให้เส้นเลือดบริเวณทวารหนักบวม และอาจทำให้ขับถ่ายลำบาก
- ปวดบริเวณอุ้งเชิงกรานและหัวหน่าว
- เหงือกบวมและเลือดออกง่ายขณะแปรงฟัน
- รู้สึกเจ็บปวดบริเวณด้านข้างของหน้าท้อง เนื่องจากกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นยืดตัวเพื่อรองรับมดลูกที่โตขึ้น
- หายใจลำบาก
- เป็นตะคริวบริเวณขา โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน
- ภาวะโลหิตจาง
- ปวดศีรษะ
- เลือดกำเดาไหล
- เจ็บหน้าอก
- เวียนศีรษะ
- ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ติดเชื้อในช่องคลอด
- มือและเท้าบวม
- รับประทานอาหารมากขึ้น
- ท้องอืด
- ท้องผูก
- แสบกลางอกจากรดไหลย้อน
- มีตกขาว ซึ่งตามปกติ จะมีสีขาวและไม่มีกลิ่น แต่ถ้ามีกลิ่นหรือสีเปลี่ยนไป หรือมีอาการคันผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์
- ผิวหนังบนใบหน้ามีสีคล้ำเป็นปื้นๆ หรือเป็นฝ้า เกิดจากฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง หลังคลอดจะหายไปเอง คุณแม่ไม่ต้องกังวล
- ผมดกขึ้นหรือขนหนาขึ้น
คำแนะนำสำหรับคุณแม่ในสัปดาห์ที่22
The Doc Says
- รับวัคซีนป้องกันโรคไอกรน เพื่อป้องกันการติดเชื้อสู่ทารกในครรภ์
- งดสูบบุหรี่
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ลดปริมาณเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนโดยปริมาณคาเฟอีนที่เหมาะสมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ คือ 200 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่า กาแฟสำเร็จรูป 2 แก้ว ต่อวัน การได้รับปริมาณคาเฟอีนที่มากเกินไปอาจส่งผลให้ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ หรืออาจเป็นสาเหตุของภาวะแท้งได้
- รับประทานธาตุเหล็กอย่างเพียงพอ ซึ่งธาตุเหล็กจะมีส่วนช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง และป้องกันภาวะโลหิตจาง โดยปริมาณธาตุเหล็กที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับคือ 27-30มิลลิกรัมต่อวัน โดยอาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็ก ได้แก่ เนื้อแดงไร้มัน เนื้อหมู ถั่วแห้ง ผักโขม ผลไม้แห้ง จมูกข้าวสาลี และข้าวโอ๊ต เป็นต้น
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควรออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 150นาที ต่อสัปดาห์
- หมั่นสร้างความสัมพันธ์กับทารกน้อยในครรภ์ด้วยการพูดคุย ร้องเพลง หรือสัมผัสท้อง และควรให้คุณพ่อและคนในครอบครัวมีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน
เรามาลุ้นกันต่อว่าในสัปดาห์ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นกับคุณแม่และเจ้าตัวน้อยอีกบ้าง
+ M.D. Visit Planner: Discuss Braxton Hicks contractions
+ M.D. Visit Planner: Talk to your doctor about acne medication.