IN THIS SECTION
- พัฒนาการของทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 21
- การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่
- อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 21
- คำแนะนำสำหรับคุณแม่
พัฒนาการของทารกในครรภ์ในสัปดาห์ที่ 21
My Baby This Week
คุณแม่หลายคนที่มีประสบการณ์การตั้งครรภ์มักบอกว่า สัปดาห์นี้ถือเป็นช่วงที่คุณแม่รู้สึกดีที่สุดช่วงหนึ่งของการตั้งครรภ์เลยก็ว่าได้ เนื่องจากว่าอาการแพ้ท้องบางอย่างที่ทำให้ไม่สบายตัวได้ผ่านพ้นไปแล้ว นอกจากนี้ ขนาดท้องก็ยังไม่ได้ใหญ่มากเกินไปที่จะเป็นอุปสรรคในการทำกิจกรรมที่ชอบได้ นี่จึงช่วงเวลาดีๆ ที่คุณแม่จะรู้สึกผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น
ในสัปดาห์นี้ สามารถวัดความยาวศีรษะถึงปลายเท้าได้แล้วหลังจากที่ก่อนหน้านี้จะวัดจากศีรษะถึงส่วนก้นเท่านั้น เพราะขาทั้งสองข้างยังงออยู่ โดยทารกในสัปดาห์นี้มีความยาวประมาณ 26.7 เซนติเมตร หรือมีขนาดเท่ากับผลกล้วย และน้ำหนักประมาณ 350 กรัม ซึ่งหนักมากว่ารกแล้ว
ร่างกายของทารกในช่วงนี้จะถูกปกคลุมด้วย ขนลานูโก ( Lanugo Hair)หรือขนอ่อนที่ถูกพัฒนาขึ้นในสัปดาห์ก่อนๆ แล้ว ซึ่งพบว่ามีขนชนิดนี้ปกคลุมหนาขึ้น โดยจะทำหน้าที่รักษาอุณหภูมิของร่างกายทารก และหลุดไปเองตามธรรมชาติก่อนคลอด ขณะที่ขนคิ้วเริ่มหนาขึ้น
ตับและม้ามของทารกสามารถผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงได้เองแล้ว และเริ่มกระบวนการพัฒนาไขกระดูกขึ้นในช่วงนี้ด้วยเช่นกัน
และหากทารกในครรภ์เป็นเพศหญิง ในระหว่างนี้โครงสร้างของช่องคลอดถูกพัฒนาสมบูรณ์แล้ว แต่จะยังคงมีการพัฒนาต่อเนื่องไปจนกว่าจะถึงกำหนดคลอด
การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 21
My Body
แน่นอนว่าคุณแม่จะมีขนาดท้องที่ใหญ่ขึ้น ขณะนี้ยอดมดลูกได้เคลื่อนที่ขึ้นมาอยู่ระดับประมาณ ½ นิ้ว จากสะดือของคุณแม่ น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้คุณแม่มักเกิดอาการบวมที่เท้าทั้งสองข้าง หลังจากการยืนหรือเดินระหว่างวัน คุณแม่ควรหาเวลานั่งพักบ้าง
นอกจากนี้ ด้วยขนาดมดลูกที่ใหญ่ขึ้น และการไหลเวียนโลหิตที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้เกิดเส้นขอดบริเวณต่างๆ ได้ โดยปกติ
มักไม่มีอาการปวด แต่คุณแม่บางคนอาจพบว่าเส้นเลือดบวมและรู้สึกเจ็บปวด หากรู้สึกว่าเจ็บหรือปวดบริเวณที่เป็นเส้นเลือดขอด ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 21
Signs & Common Symptoms of Pregnancy
ในช่วงนี้ อาการที่คุณแม่สังเกตเห็นได้ชัดเจน คือ อาการปวดศีรษะ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ อันเกิดมาจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงหรืออาจเป็นเพราะร่างกายขาดน้ำ อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงต่อเนื่องมากกว่า 2-3 ชั่วโมง และยังไม่หายแม้จะรับประทานยาแก้ปวดแล้ว นี่คืออาการของภาวะความดันโลหิตสูงซึ่งอาจเป็นสัญญาณของภาวะครรภ์เป็นพิษ ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเร็ว
นอกจากนี้ ยังมีอาการอื่นๆ ที่คุณแม่มักพบเจอในช่วงสัปดาห์นี้ด้วย ได้แก่
- ปวดบริเวณอุ้งเชิงกรานและหัวเหน่า
- เหงือกบวมและเลือดออกง่ายขณะแปรงฟัน
- รู้สึกเจ็บปวดบริเวณด้านข้างของหน้าท้อง เนื่องจากกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นยืดตัวเพื่อรองรับมดลูกที่โตขึ้น
- หายใจลำบาก
- เป็นตะคริวบริเวณขา โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน
- ภาวะโลหิตจาง
- ปวดศีรษะ
- เลือดกำเดาไหล
- เจ็บหน้าอก
- เวียนศีรษะ
- ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ติดเชื้อในช่องคลอด
- มือและเท้าบวม
- รับประทานอาหารมากขึ้น
- ท้องอืด
- ท้องผูก
- แสบกลางอกจากรดไหลย้อน
- มีตกขาว ซึ่งตามปกติ จะมีสีขาวและไม่มีกลิ่น แต่ถ้ามีกลิ่นหรือสีเปลี่ยนไป หรือมีอาการคันผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์
- ผิวหนังบนใบหน้ามีสีคล้ำเป็นปื้นๆ หรือเป็นฝ้า เกิดจากฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง หลังคลอดจะหายไปเอง คุณแม่ไม่ต้องกังวล
- ผมดกขึ้นหรือขนหนาขึ้น
คำแนะนำสำหรับคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 21
The Doc Says
- งดสูบบุหรี่
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ลดปริมาณเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนโดยปริมาณคาเฟอีนที่เหมาะสมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ คือ 200 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่า กาแฟสำเร็จรูป 2 แก้ว ต่อวัน การได้รับปริมาณคาเฟอีนที่มากเกินไปอาจส่งผลให้ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ หรืออาจเป็นสาเหตุของภาวะแท้งได้
- รับประทานธาตุเหล็กอย่างเพียงพอ ซึ่งธาตุเหล็กจะมีส่วนช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง และป้องกันภาวะโลหิตจาง โดยปริมาณธาตุเหล็กที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับคือ 27-30มิลลิกรัมต่อวัน โดยอาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็ก ได้แก่ เนื้อแดงไร้มัน เนื้อหมู ถั่วแห้ง ผักโขม ผลไม้แห้ง จมูกข้าวสาลี และข้าวโอ๊ต เป็นต้น
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควรออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 150นาที ต่อสัปดาห์
- หมั่นสร้างความสัมพันธ์กับทารกน้อยในครรภ์ด้วยการพูดคุย ร้องเพลง หรือสัมผัสท้อง และควรให้คุณพ่อและคนในครอบครัวมีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน
เรามาลุ้นกันต่อว่าในสัปดาห์ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นกับคุณแม่และลูกน้อยอีกบ้าง
+ To Do: Schedule birthing class
+ M.D. Visit Planner: Discuss birthing options