IN THIS SECTION
- พัฒนาการของทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 18
- การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่
- อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 18
- คำแนะนำสำหรับคุณแม่
พัฒนาการของทารกในครรภ์ในสัปดาห์ที่ 18
My Baby This Week
มาถึงเวลานี้ คุณแม่ได้ผ่านมาเกือบถึงครึ่งทางของการตั้งครรภ์แล้ว และทารกก็ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยในสัปดาห์นี้ ทารกมีความยาวประมาณ 14-16 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 160-190 กรัม หรือขนาดเท่าแตงกวา
ทารกในครรภ์สามารถขยับแขน ขยับขา และเคลื่อนที่ไปรอบๆ ทำให้บางครั้งคุณสามารถรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ได้แล้ว
หากทารกในครรภ์เป็นเพศหญิง ในระหว่างนี้ระบบอวัยวะสืบพันธุ์ภายใน ได้แก่ มดลูก และท่อนำไข่ ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมแล้ว และหากทารกเป็นเพศชาย คุณแม่อาจเห็นอวัยวะเพศภายนอกในการตรวจอัลตราซาวด์ครั้งต่อไปก็เป็นได้ เพราะช่วงนี้ อวัยวะภายนอกเริ่มพัฒนาให้เห็นชัดเจนแล้ว
การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 18
My Body
คนทั่วไปทราบแล้วว่าคุณแม่กำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากหน้าท้องที่ขยายใหญ่ขึ้นอย่างชัดเจน จนคุณอาจรู้สึกว่าตัวเองเคลื่อนไหวได้ช้าลง และคุณแม่ก็ควรสวมชุดคลุมท้องในช่วงนี้ คุณแม่อาจเริ่มสังเกตเห็นรอยแตกลายบนผิวหนังบริเวณหน้าท้องชัดเจนขึ้น เนื่องจากผิวหนังเกิดการขยายตัวอย่างมาก คุณแม่อาจใช้มอยซ์เจอไรเซอร์ทาผิวหนังบริเวณหน้าท้องเป็นประจำ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและลดรอยแตก ขณะเดียวกัน เต้านมของคุณแม่ก็ยังคงขยายใหญ่ขึ้น เนื่องจากฮอร์โมนยังคงไปกระตุ้นให้ต่อมผลิตน้ำนมและท่อน้ำนมขยายใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมผลิตน้ำนมสำหรับเลี้ยงทารกในอนาคต
อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 18
Signs & Common Symptoms of Pregnancy
นอกจากความเปลี่ยนแปลงของร่างกายภายนอกแล้ว ภายในร่างกายคุณแม่ก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระบบการทำงานของหัวใจที่ได้รับผลกระทบจากการตั้งครรภ์ โดยคุณแม่มักมีภาวะความดันต่ำ ทำให้วิงเวียนศีรษะ และมีโอกาสเป็นลมได้บ่อยขึ้น เพราะฉะนั้น คุณแม่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยไม่ควรเปลี่ยนอิริยาบถจากนั่งเป็นยืนอย่างรวดเร็ว
ส่วนอาการแพ้ท้องและอาการอื่นๆ ที่ทำให้คุณแม่ไม่สบายตัวที่มีมาในช่วงไตรมาสแรกจะบรรเทาเบาบางลงในช่วงนี้ ทำให้คุณแม่รู้สึกดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ในบางรายก็อาจยังมีอาการต่างๆ หลงเหลืออยู่ โดยอาการของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่พบบ่อยในช่วงนี้ ได้แก่
- บริเวณหน้าท้องเกิดผิวแตกลาย
- อ่อนเพลียและนอนไม่ค่อยหลับ
- รู้สึกเจ็บปวดบริเวณด้านข้างของหน้าท้อง เนื่องจากกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นยืดตัวเพื่อรองรับมดลูกที่โตขึ้น
- หายใจลำบาก
- ปวดศีรษะ
- เลือดกำเดาไหล
- เจ็บหน้าอก
- เวียนศีรษะ
- ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ติดเชื้อในช่องคลอด
- มือและเท้าบวม
- รับประทานอาหารมากขึ้น
- ท้องอืด
- ท้องผูก
- แสบกลางอกจากรดไหลย้อน
- ความรู้สึกไวต่อกลิ่นและความชอบในการกินที่เปลี่ยนไป
- ปวดเกร็งบริเวณท้องคล้ายปวดประจำเดือน
- มีตกขาว ซึ่งตามปกติ จะมีสีขาวและไม่มีกลิ่น แต่ถ้ามีกลิ่นหรือสีเปลี่ยนไป หรือมีอาการคันผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์
- มีเลือดออกทางช่องคลอด (Implantation Bleeding) หรือตามที่คนโบราณมักเรียกว่า “เลือดล้างหน้าเด็ก” แต่เลือดที่ออกมาในช่วงนี้จะต่างจากเลือดประจำเดือน โดยจะออกมาปริมาณเล็กน้อย และมีสีชมพูจางๆ หรือน้ำตาล ไม่ได้เป็นสีแดงสดเหมือนเลือดประจำเดือนตามปกติ อาการนี้ถือเป็นสิ่งปกติในหญิงตั้งครรภ์ และพบเพียงร้อยละ 20เท่านั้นที่มีอาการนี้ ดังนั้น ไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องกังวลมากนัก
- ผิวหนังบนใบหน้ามีสีคล้ำเป็นปื้นๆ หรือเป็นฝ้า เกิดจากฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง หลังคลอดจะหายไปเอง คุณแม่ไม่ต้องกังวล
- ผมดกขึ้นหรือขนหนาขึ้น
คำแนะนำสำหรับคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 18
The Doc Says
- งดสูบบุหรี่
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ลดปริมาณเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนโดยปริมาณคาเฟอีนที่เหมาะสมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ คือ 200 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่า กาแฟสำเร็จรูป 2 แก้ว ต่อวัน การได้รับปริมาณคาเฟอีนที่มากเกินไปอาจส่งผลให้ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ หรืออาจเป็นสาเหตุของภาวะแท้งได้
- รับประทานวิตามิน ดี อย่างเพียงพอ โดยปริมาณวิตามินดี ที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับคือ 10 ไมโครกรัมต่อวัน โดยคุณแม่สามารถได้รับวิตามิน ดี จากหลายทาง เช่น การออกไปรับแสงแดดอ่อนๆ ในช่วงเช้า และช่วงเย็น
การรับประทานอาหารที่อุดมด้วยวิตามินดี ได้แก่ น้ำมันปลา ไข่ และเนื้อแดง หรือการรับประทานอาหารเสริมหากการรับประทานอาหารตามปกติไม่เพียงพอ - ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเลือกการออกกำลังกายแบบเบาๆ เช่น เดิน โยคะ หรือว่ายน้ำ โดยผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 150นาที ต่อสัปดาห์
เรามาลุ้นกันต่อว่าในสัปดาห์ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นกับคุณแม่และลูกน้อยอีกบ้าง
+ M.D. Visit Planner: Discuss getting flu vaccine with doctor
+ M.D. Visit Planner: Talk to doctor about calcium and vitamin D