IN THIS SECTION
- พัฒนาการของทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 17
- การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่
- อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 17
- คำแนะนำสำหรับคุณแม่
พัฒนาการของทารกในครรภ์ในสัปดาห์ที่ 17
My Baby This Week
ในสัปดาห์นี้ ทารกน้อยมีความยาวประมาณ12-14 เซนติเมตร หนักราว 110-150 กรัม หรือมีขนาดเท่ากับผลหอมหัวใหญ่ ผิวหนังของทารกในระยะนี้อาจดูเหี่ยวย่น แต่ร่างกายจะเริ่มสร้างเนื้อเยื่อไขมันซึ่งจะช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายและระบบเผาผลาญพลังงาน
สายสะดือจะยืดยาวขึ้นและแข็งแรงขึ้น ส่วนประสาทสัมผัสในการได้ยินก็ได้รับการพัฒนาอย่างสมบูรณ์ โดยใบหูภายนอกได้เคลื่อนมาอยู่ในตำแหน่งที่ควรจะเป็นแล้ว
ลูกตาของทารกสามารถกลอกไปมาได้แล้วแม้จะยังเปลือกตาปิดอยู่ และในระหว่างนี้ ขนคิ้วและขนตาก็เริ่มพัฒนาขึ้นแล้ว นอกจากนี้ ทารกในครรภ์ยังมีปฏิกิริยากับเสียงดังจากภายนอก โดยอาจเกิดอาการสะดุ้งเมื่อยินเสียงดัง และสามารถอ้าปากและปิดปากได้แล้ว รวมทั้งยังมีลายนิ้วมือชัดเจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแล้วด้วย
การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 17
My Body
ในขณะที่ท้องของคุณแม่เริ่มขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ อวัยวะภายในก็หลบทางให้มดลูกและทารกเติบโตอย่างสะดวก ยอดมดลูกเริ่มยืดยาวและมีลักษณะกลมมากขึ้น โดยมดลูกจะดันลำไส้สูงขึ้นและออกไปยังด้านข้างของช่องท้อง คุณแม่อาจรู้สึกเจ็บบริเวณหน้าท้องเนื่องจากกล้ามเนื้อและเอ็นบริเวณยืดตัว แต่จะหายไปเมื่อคุณแม่เปลี่ยนอิริยาบถ แต่หากมีอาการรุนแรงผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์
ขณะเดียวกัน เต้านมของคุณแม่ก็ขยายใหญ่ขึ้น เพราะฮอร์โมนไปกระตุ้นต่อมน้ำนมให้โตขึ้นเพื่อเตรียมผลิตน้ำนมให้ทารกน้อยในอนาคตนั่นเอง ในช่วงนี้ คุณแม่อาจต้องเปลี่ยนขนาดเสื้อในถี่ขึ้น
อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 17
Signs & Common Symptoms of Pregnancy
ในขณะที่ทารกในครรภ์เติบโตอย่างรวดเร็ว ในสัปดาห์นี้ คุณแม่จะรู้สึกว่ามีเรี่ยวแรงมากขึ้นที่จะออกไปทำกิจกรรมอื่นๆ
ได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย และการเตรียมตัววางแผนการคลอด การเลี้ยงลูก หรือการใช้ชีวิตในด้านอื่นๆ อาจก่อให้เกิดความวิตกกังวล และความเครียด และอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์ได้ จริงๆ แล้ว อารมณ์ซึมเศร้า ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่เกิดอาการต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณของภาวะซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์
- วิตกกังวลต่อเนื่อง และอาการหงุดหงิดรุนแรงขึ้น
- มีปัญหาการนอนหลับ
- พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป
- สมาธิสั้น
- สูญเสียความทรงระยะสั้น
ส่วนอาการแพ้ท้องและอาการอื่นๆ ที่ทำให้คุณแม่ไม่สบายตัวที่มีมาในช่วงไตรมาสแรกจะบรรเทาเบาบางลงในช่วงนี้ ทำให้คุณแม่รู้สึกดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ในบางรายก็อาจยังมีอาการต่างๆ หลงเหลืออยู่ โดยอาการของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่พบบ่อยในช่วงนี้ ได้แก่
- รู้สึกเจ็บปวดบริเวณด้านข้างของหน้าท้อง เนื่องจากกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นยืดตัวเพื่อรองรับมดลูกที่โตขึ้น
- หายใจลำบาก
- ปวดศีรษะ
- เลือดกำเดาไหล
- เจ็บหน้าอก
- เวียนศีรษะ
- ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ติดเชื้อในช่องคลอด
- มือและเท้าบวม
- รับประทานอาหารมากขึ้น
- ท้องอืด
- ท้องผูก
- แสบกลางอกจากรดไหลย้อน
- ความรู้สึกไวต่อกลิ่นและความชอบในการกินที่เปลี่ยนไป
- ปวดเกร็งบริเวณท้องคล้ายปวดประจำเดือน
- มีตกขาว ซึ่งตามปกติ จะมีสีขาวและไม่มีกลิ่น แต่ถ้ามีกลิ่นหรือสีเปลี่ยนไป หรือมีอาการคันผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์
- มีเลือดออกทางช่องคลอด (Implantation Bleeding) หรือตามที่คนโบราณมักเรียกว่า “เลือดล้างหน้าเด็ก” แต่เลือดที่ออกมาในช่วงนี้จะต่างจากเลือดประจำเดือน โดยจะออกมาปริมาณเล็กน้อย และมีสีชมพูจางๆ หรือน้ำตาล ไม่ได้เป็นสีแดงสดเหมือนเลือดประจำเดือนตามปกติ อาการนี้ถือเป็นสิ่งปกติในหญิงตั้งครรภ์ และพบเพียงร้อยละ 20เท่านั้นที่มีอาการนี้ ดังนั้น ไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องกังวลมากนัก
- ผิวหนังบนใบหน้ามีสีคล้ำเป็นปื้นๆ หรือเป็นฝ้า เกิดจากฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง หลังคลอดจะหายไปเอง คุณแม่ไม่ต้องกังวล
- ผมดกขึ้นหรือขนหนาขึ้น
คำแนะนำสำหรับคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 17
The Doc Says
- ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสถานพยาบาลเพื่อการคลอดบุตร โดยอาจพิจารณาถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ค่าใช้จ่าย และ ความสะดวก
- งดสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
เรามาลุ้นกันต่อว่าในสัปดาห์ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นกับคุณแม่และลูกน้อยอีกบ้าง
+ M.D. Visit Planner: Discuss effective sleep positions
+ To Do: Schedule dental visit