IN THIS SECTION
- พัฒนาการของทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 16
- การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่
- อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 16
- คำแนะนำสำหรับคุณแม่
พัฒนาการของทารกในครรภ์ในสัปดาห์ที่ 16
My Baby This Week
ทารกในครรภ์ในช่วงสัปดาห์นี้ยังคงมีการพัฒนารวดเร็วอย่างต่อเนื่อง โดยมีความยาวประมาณ 11.5-13.5 เซนติเมตร มีน้ำหนักประมาณ 70-100 กรัม หรือมีขนาดพอๆ กับผลอะโวคาโด
ระบบประสาทยังคงพัฒนาขึ้นอีกระดับ ทำให้ทารกในครรภ์สามารถตั้งศีรษะตรง ขยับแขนขา กำหมัด หรือ จับสายสะดือได้เองแล้ว รวมทั้งสามารถแสดงสีหน้าได้ เช่น ขมวดคิ้ว หรือหรี่ตา
การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 16
My Body
มดลูกกำลังขยายตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนขณะนี้มีน้ำหนัก 1.4 กิโลกรัม ขณะเดียวกัน รกและถุงน้ำค่ำก็มีขนาดใหญ่ขึ้นและน้ำหนักเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะแค่น้ำคร่ำที่ทำหน้าที่ปกป้องทารกในครรภ์ก็หนัก 200 กรัมแล้ว
นอกจากนี้ ร่างกายคุณแม่ก็ยังคงผลิตเลือดอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาตรเลือดในร่างกายคุณแม่จะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30-50 โดยจะมีการไหลเวียนเลือดในบริเวณอุ้งเชิงกรานและมดลูกมากยิ่งขึ้น เพื่อนำพาออกซิเจนและสารอาหารมายังทารกในครรภ์มากขึ้น ในช่วงนี้ หน้าตาคุณแม่อาจดูสดใสมากยิ่งขึ้น เพราะระบบไหลเวียนเลือดทำงานดี ในขณะที่เดียวกัน ก็อาจพบว่าด้วยฮอร์โมนที่เพิ่มระดับขึ้น ทำให้ต่อมใต้ผิวหนังผลิตน้ำมันออกมามากขึ้น ทำให้เกิดผิวมันหรือเกิดสิวบริเวณใบหน้า หลัง หรือกลางอก ถือว่าเป็นเรื่องปกติ อาการเหล่านี้จะหายไปเอง แต่หากมีอาการรุนแรง การใช้ยารักษาสิวใดๆ ควรปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะดีที่สุด
อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 16
Signs & Common Symptoms of Pregnancy
ในขณะที่ทารกในครรภ์เติบโตอย่างรวดเร็ว คุณแม่อาจมีอาการต่างๆ ที่เห็นได้ชัด ดังนี้
- เส้นเลือดขอด เกิดจากฮอร์โมนตั้งครรภ์ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้หลอดเลือดดำขยายตัว ประกอบกับมีเลือดมา
หล่อเลี้ยงบริเวณผิวหนังมากขึ้นจึงเกิดการสะสมของเลือดในบริเวณนี้จนเห็นชัดเจนบนผิวหนัง - ตะคริวที่ขา มักเกิดในตอนกลางคืน เพื่อป้องกันอาการนี้ คุณแม่ควรลองบริหารขาและข้อเท้าระหว่างวันเป็นประจำเพื่อทำให้กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น
ส่วนอาการแพ้ท้องและอาการอื่นๆ ที่ทำให้คุณแม่ไม่สบายตัวที่มีมาในช่วงไตรมาสแรกจะบรรเทาเบาบางลงในช่วงนี้ ทำให้คุณแม่รู้สึกดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ในบางรายก็อาจยังมีอาการต่างๆ หลงเหลืออยู่ โดยอาการของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่พบบ่อยในช่วงนี้ ได้แก่
- รู้สึกเจ็บปวดบริเวณด้านข้างของหน้าท้อง เนื่องจากกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นยืดตัวเพื่อรองรับมดลูกที่โตขึ้น
- หายใจลำบาก
- ปวดศีรษะ
- เลือดกำเดาไหล
- เจ็บหน้าอก
- เวียนศีรษะ
- ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ติดเชื้อในช่องคลอด
- มือและเท้าบวม
- รับประทานอาหารมากขึ้น
- ท้องอืด
- ท้องผูก
- แสบกลางอกจากรดไหลย้อน
- ความรู้สึกไวต่อกลิ่นและความชอบในการกินที่เปลี่ยนไป
- ปวดเกร็งบริเวณท้องคล้ายปวดประจำเดือน
- มีตกขาว ซึ่งตามปกติ จะมีสีขาวและไม่มีกลิ่น แต่ถ้ามีกลิ่นหรือสีเปลี่ยนไป หรือมีอาการคันผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์
- มีเลือดออกทางช่องคลอด (Implantation Bleeding) หรือตามที่คนโบราณมักเรียกว่า “เลือดล้างหน้าเด็ก” แต่เลือดที่ออกมาในช่วงนี้จะต่างจากเลือดประจำเดือน โดยจะออกมาปริมาณเล็กน้อย และมีสีชมพูจางๆ หรือน้ำตาล ไม่ได้เป็นสีแดงสดเหมือนเลือดประจำเดือนตามปกติ อาการนี้ถือเป็นสิ่งปกติในหญิงตั้งครรภ์ และพบเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่มีอาการนี้ ดังนั้น ไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องกังวลมากนัก
- ผิวหนังบนใบหน้ามีสีคล้ำเป็นปื้นๆ หรือเป็นฝ้า เกิดจากฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง หลังคลอดจะหายไปเอง คุณแม่ไม่ต้องกังวล
- ผมดกขึ้นหรือขนหนาขึ้น
คำแนะนำสำหรับคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 16
The Doc Says
ในสัปดาห์นี้ คุณแม่ควรได้รับการตรวจครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 2 โดยอาจจะมีการตรวจและทดสอบการแพทย์ต่างๆ ดังนี้
- การตรวจอัลตราซาวด์ เป็นการตรวจด้วยคลื่นเสียงซึ่งจะแปลงสัญญาณออกมาเป็นภาพของทารกในครรภ์ มักใช้เพื่อระบุเพศของทารก ตรวจหาความผิดปกติ ติดตามการเจริญเติบโต รวมทั้งวัดความยาวปากมดลูกเพื่อทำนายการคลอดก่อนกำหนด รวมทั้งดูตำแหน่งของรกว่า มีแนวโน้มภาวะรกเกาะต่ำหรือไม่
- การเจาะเลือดตรวจ Alpha-Fetoprotein (AFP) เป็นการตรวจค่าโปรตีนที่มาจากรก เพื่อตรวจหาความผิดปกติของรก และเนื้อเยื่อที่เกี่ยวข้องกับรก
- การเจาะคร่ำ (amniocentesis) เพื่อตรวจหาความผิดปกติของโครโมโซมและการติดเชื้ออื่นๆ ของทารกในครรภ์
- การตรวจเลือด เพื่อวัดระดับธาตุเหล็กในเลือด
- การตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจกรองภาวะครรภ์เป็นพิษและภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์
เรามาลุ้นกันต่อว่าในสัปดาห์ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นกับคุณแม่และลูกน้อยอีกบ้าง
+ To Do: Discuss vacation options