IN THIS SECTION
- พัฒนาการของทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 15
- การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่
- อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 15
- คำแนะนำสำหรับคุณแม่
พัฒนาการของทารกในครรภ์ในสัปดาห์ที่ 15
My Baby
เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 15 ทารกในครรภ์ยังคงเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยจะมีความยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร และหนักประมาณ 57-70 กรัม หรือมีขนาดเท่ากับผลลูกแพร์ ทารกในสัปดาห์นี้สามารถได้ยินเสียงต่างๆ จากทั้งภายในและภายนอกร่างกายของคุณแม่ ไม่ว่าจะเป็นเสียงที่เกิดจากระบบการย่อยอาหาร เสียงหัวใจของคุณแม่ หรือแม้แต่เสียงเรอหรือเสียงผายลมของคุณแม่ และถ้าหากคุณแม่เริ่มพูดคุยกับเจ้าตัวน้อยในท้องก็ทำได้ เพราะเขาอาจได้ยินเสียงของคุณแม่ด้วยเช่นกัน
ผิวหนังของทารกยังคงบางใสจนสามารถเห็นเส้นเลือดภายในได้ และหากมีการอัลตราซาวด์ในช่วงนี้ ก็อาจเห็นโครงกระดูกของทารกที่สมบูรณ์แล้วด้วย นอกจากนี้ บนผิวหนังจะมีขนอ่อน หรือ ขนลานูโก (Lanugo Hair) ซึ่งเป็นขนเส้นบางๆ ปกคลุมทั่วร่างกาย
นอกจากนี้ ดวงตาของทารกก็สามารถรับรู้ถึงแสงสว่างจากภายนอกได้แม้จะปิดสนิทก็ตาม
การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 15
My Body
คุณแม่อาจรู้สึกว่าอึดอัดภายในท้องขึ้นนิดหน่อย เนื่องจากทารกขยายขนาดขึ้น ซึ่งหมายความว่า ถุงน้ำคร่ำและรกก็ต้องขยายขนาดตามไปด้วย ซึ่งทำให้ร่างกายคุณแม่ต้องรับน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่กล้ามเนื้อและเอ็นบริเวณหน้าท้องก็ยืดตัวมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บแปลบบริเวณหน้าท้องบ้าง แต่ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร
อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 15
Signs & Common Symptoms of Pregnancy
ในขณะที่ทารกในครรภ์เติบโตอย่างรวดเร็ว คุณแม่อาจมีอาการต่างๆ ที่เห็นได้ชัด ดังนี้
- ปวดหลังส่วนล่าง เนื่องจากมดลูกขยายตัวใหญ่ขึ้น น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ทำให้คุณแม่อาจเกิดอาการปวดหลังส่วนล่าง เนื่องจากต้องรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นนั่นเอง
- อาการคันตามผิวหนัง เกิดจากการขยายตัวของผิวหนังหน้าบริเวณหน้าท้อง คุณแม่อาจใช้มอยซ์เจอไรเซอร์
ทาบริเวณผิวหนังเพื่อสร้างชุ่มชื้น และลดการระคายเคือง - โรคเชื้อราในช่องคลอด ในระหว่างตั้งครรภ์ ช่องคลอดจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดการติดเชื้อง่ายขึ้น โดยมักจะพบว่ามีตกขาวบ่อยขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่หากสังเกตว่า
ตกขาว มีสีเปลี่ยนไป คือเปลี่ยนจากสีขาวขุ่น เป็นสีเหลือง เขียว หรือน้ำตาล และมีอาการคันร่วมด้วย ควรพบแพทย์ทันทีและอย่าซื้อยารักษาเชื้อรามาใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์เด็ดขาด
ส่วนอาการแพ้ท้องและอาการอื่นๆ ที่ทำให้คุณแม่ไม่สบายตัวที่มีมาในช่วงไตรมาสแรกจะบรรเทาเบาบางลงในช่วงนี้ ทำให้คุณแม่รู้สึกดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ในบางรายก็อาจยังมีอาการต่างๆ หลงเหลืออยู่ โดยอาการของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่พบบ่อยในช่วงนี้ ได้แก่
- รู้สึกเจ็บปวดบริเวณด้านข้างของหน้าท้อง เนื่องจากกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นยืดตัวเพื่อรองรับมดลูกที่โตขึ้น
- หายใจลำบาก
- ปวดศีรษะ
- เลือดกำเดาไหล
- เจ็บหน้าอก
- เวียนศีรษะ
- ขาเป็นตะคริว
- ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ติดเชื้อในช่องคลอด
- มือและเท้าบวม
- รับประทานอาหารมากขึ้น
- ท้องอืด
- ท้องผูก
- แสบกลางอกจากรดไหลย้อน
- ความรู้สึกไวต่อกลิ่นและความชอบในการกินที่เปลี่ยนไป
- ปวดเกร็งบริเวณท้องคล้ายปวดประจำเดือน
- มีตกขาว ซึ่งตามปกติ จะมีสีขาวและไม่มีกลิ่น แต่ถ้ามีกลิ่นหรือสีเปลี่ยนไป หรือมีอาการคันผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์
- มีเลือดออกทางช่องคลอด (Implantation Bleeding) หรือตามที่คนโบราณมักเรียกว่า “เลือดล้างหน้าเด็ก” แต่เลือดที่ออกมาในช่วงนี้จะต่างจากเลือดประจำเดือน โดยจะออกมาปริมาณเล็กน้อย และมีสีชมพูจางๆ หรือน้ำตาล ไม่ได้เป็นสีแดงสดเหมือนเลือดประจำเดือนตามปกติ อาการนี้ถือเป็นสิ่งปกติในหญิงตั้งครรภ์ และพบเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่มีอาการนี้ ดังนั้น ไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องกังวลมากนัก
- ผิวหนังบนใบหน้ามีสีคล้ำเป็นปื้นๆ หรือเป็นฝ้า เกิดจากฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง หลังคลอดจะหายไปเอง คุณแม่
ไม่ต้องกังวล - ผิวหนังมันและมีจุดด่างดำ
- ผมดกขึ้นหรือขนหนาขึ้น
คำแนะนำสำหรับคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 15
The Doc Says
ในช่วงนี้ แพทย์อาจนัดตรวจร่างกายคุณแม่และตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ โดยแพทย์อาจทำการตรวจความสูงยอดมดลูก (Fundal Height) เพื่อประเมินอายุครรภ์และตำแหน่งของทารกในครรภ์ โดยการวัดระยะจากรอยต่อของกระดูกหัวหน่าวไปจนถึงยอดมดลูก โดยแนบตามส่วนโค้งของมดลูก
ในระหว่างนี้ คุณแม่ก็ควรดูแลรักษาสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงโดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยแนะนำว่าคุณแม่ควรออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 150 นาที ต่อสัปดาห์ โดยเลือกการออกกำลังกายเบาๆ เช่น เดิน โยคะ หรือว่ายน้ำ
เรามาลุ้นกันต่อว่าในสัปดาห์ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นกับคุณแม่และลูกน้อยอีกบ้าง
+ M.D. Visit Planner: Discuss second trimester screening tests
+ M.D. Visit Planner: Discuss amniocentesis
+ M.D. Visit Planner: Discuss target weight gain with doctor.