IN THIS SECTION
- พัฒนาการของทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 13
- การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่
- อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 13
- คำแนะนำสำหรับคุณแม่
พัฒนาการของทารกในครรภ์ในสัปดาห์ที่ 13
My Baby
ขอต้อนรับคุณแม่เข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ ในช่วงนี้ ขนาดของทารกในครรภ์จะมีความยาวประมาณ 7.4-9.5 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 25-35 กรัม หรือเท่ากับผลมะนาวเลมอน
พัฒนาการของทารกในครรภ์ยังคงดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่มดลูกก็ขยายตัวใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารกด้วยเช่นกัน โดยในช่วงนี้ ลายนิ้วมือจะเริ่มปรากฏ และทารกสามารถเคลื่อนไหวเป็นจังหวะ หรือเคลื่อนตัวไปรอบถุงน้ำคร่ำอย่างอิสระ รวมทั้งสามารถดูดนิ้วหัวแม่มือได้แล้ว โดยเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนากล้ามเนื้อที่ใช้ดูดเพื่อเตรียมพร้อมให้ทารกสามารถดูดนมแม่ได้หลังคลอด ระบบไตและระบบปัสสาวะสามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์แล้ว ทารกจึงสามารถขับถ่ายของเสียออกมา
นอกจากนี้ ขนบางๆ ก็เริ่มปกคลุมผิวหนังของทารกแล้วด้วย ขณะที่ระบบสืบพันธุ์ภายใน ได้แก่ อัณฑะและรังไข่ก็พัฒนาสมบูรณ์แล้ว และอวัยวะเพศภายนอกก็กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงไม่สามารถสังเกตได้ชัดเจนว่าเป็นเพศหญิงหรือชาย
การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 13
My Body
ข่าวดีของคุณแม่ในสัปดาห์นี้ คือ อาการแพ้ท้องก่อนหน้านี้จะเริ่มบรรเทาเบาบาง ทำให้คุณแม่รู้สึกสบายขึ้น อย่างไรก็ตาม ร่างกายของคุณแม่ยังคงเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนที่ยังคงเพิ่มระดับอย่างต่อเนื่อง โดยความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนอาจมีดังนี้
- มีอารมณ์ทางเพศเพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากมีเลือดเข้ามาหล่อเลี้ยงบริเวณอุ้งเชิงกรานเพิ่มขึ้น และระดับฮอร์โมนเพศหญิงที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกคนที่รู้สึกแบบนี้ อย่างไรก็ตาม คุณแม่สามารถมีเซ็กส์ได้อย่างปลอดภัยในช่วงนี้ ควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมเกี่ยวกับการมีเซ็กส์อย่างปลอดภัยระหว่างตั้งครรภ์
- มดลูกขยายขึ้นด้านบนและด้านหน้า ซึ่งทำให้คุณแม่สังเกตเห็นหน้าท้องของตนเองยื่นออกไปข้างหน้าอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น และยังทำให้อาการปัสสาวะบ่อยลดน้อยลง เนื่องจาก มดลูกเริ่มเคลื่อนที่พ้นจากกระเพาะปัสสาวะแล้ว
- ปัญหาเหงือกและฟัน ในช่วงนี้คุณแม่อาจเกิดหินปูนง่าย ซึ่งจะนำไปสู่อาการเหงือกบวมและเลือดออกได้ง่ายขณะแปรงฟัน ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการดุแลสุขภาพและช่องปากที่เหมาะสมในระหว่างตั้งครรภ์
อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 13
Signs & Common Symptoms of Pregnancy
อาการของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่พบบ่อยในช่วงนี้ ได้แก่
- รู้สึกเจ็บปวดบริเวณด้านข้างของหน้าท้อง เนื่องจากกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นยืดตัวเพื่อรองรับมดลูกที่โตขึ้น
- หายใจลำบาก
- ปวดศีรษะ
- เลือดกำเดาไหล
- เจ็บหน้าอก
- เวียนศีรษะ
- ขาเป็นตะคริว
- ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ติดเชื้อในช่องคลอด
- มือและเท้าบวม
- รับประทานอาหารมากขึ้น
- ท้องอืด
- ท้องผูก
- แสบกลางอกจากรดไหลย้อน
- ความรู้สึกไวต่อกลิ่นและความชอบในการกินที่เปลี่ยนไป
- ปวดเกร็งบริเวณท้องคล้ายปวดประจำเดือน
- มีตกขาว ซึ่งตามปกติ จะมีสีขาวและไม่มีกลิ่น แต่ถ้ามีกลิ่นหรือสีเปลี่ยนไป หรือมีอาการคันผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์
- มีเลือดออกทางช่องคลอด (Implantation Bleeding) หรือตามที่คนโบราณมักเรียกว่า “เลือดล้างหน้าเด็ก” แต่เลือดที่ออกมาในช่วงนี้จะต่างจากเลือดประจำเดือน โดยจะออกมาปริมาณเล็กน้อย และมีสีชมพูจางๆ หรือน้ำตาล ไม่ได้เป็นสีแดงสดเหมือนเลือดประจำเดือนตามปกติ อาการนี้ถือเป็นสิ่งปกติในหญิงตั้งครรภ์ และพบเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่มีอาการนี้ ดังนั้น ไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องกังวลมากนัก
- ผิวหนังบนใบหน้ามีสีคล้ำเป็นปื้นๆ หรือเป็นฝ้า เกิดจากฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง หลังคลอดจะหายไปเอง คุณแม่ไม่ต้องกังวล
- ผิวหนังมันและมีจุดด่างดำ
- ผมดกขึ้นหรือขนหนาขึ้น
คำแนะนำสำหรับคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 13
The Doc Says
รับประทานอาหารมีประโยชน์
ในช่วงนี้ อาการแพ้ท้องเริ่มหายไปในคุณแม่หลายๆ คน และทำให้อยากอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะของหวาน เพราะระดับน้ำตาลของคุณแม่จะเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และบางครั้งการรับประทานอาหารมากขึ้นกว่าปกติ อาจนำไปสู่ภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ได้ เพราะฉะนั้น การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จึงสำคัญสำหรับตัวคุณแม่ในช่วงนี้
สร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน
การออกกำลังกายจะช่วยทำให้คุณแม่รู้สึกสดชื่น กระฉับกระเฉง และลดอาการที่ทำให้ไม่สบายตัวระหว่างตั้งครรภ์ได้ โดยเฉพาะการสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน ซึ่งการออกกำลังกายกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานที่ง่ายที่สุดคือ การฝึกขมิบ ซึ่งทำเหมือนกับขณะที่คุณแม่พยายามอั้นปัสสาวะหรืออุจจาระ การขมิบจะช่วยลดปัญหาปัสสาวะเล็ดขณะที่คุณจาม ไอ หรือหัวเราะได้
เรามาลุ้นกันต่อว่าในสัปดาห์ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นกับคุณแม่และลูกน้อยอีกบ้าง