IN THIS SECTION
- พัฒนาการของทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 12
- การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่
- อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 12
- คำแนะนำสำหรับคุณแม่
พัฒนาการของทารกในครรภ์ในสัปดาห์ที่ 12
My Baby This Week
ลูกน้อยในครรภ์อายุได้ 12 สัปดาห์แล้ว ระยะนี้ทารกในครรภ์ส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักประมาณ 14 กรัมขึ้นไป ยาวประมาณ 2.5- 3 นิ้ว มีอวัยวะครบ มีพัฒนาการของอวัยวะต่างๆในร่างกายเหมือนผู้ใหญ่ เช่น มีระบบไหลเวียนเลือดและหัวใจ มีระบบหายใจแต่ยังแลกเปลี่ยนแก๊สไม่ได้ มีระบบขับถ่าย เป็นต้น ลูกสามารถขยับแขนขา เคลื่อนไหวร่างกายได้ แต่คุณแม่ไม่รู้สึกเพราะลูกตัวเล็กเกินไป อวัยวะเพศเริ่มแยกเพศชัดเจนแต่ยังไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยการอัลตร้าซาวน์ ผิวหนังของทารกจะบางใสมากจนมองเห็นเส้นเลือด ทารกจะเริ่มกินและกลืนน้ำคร่ำได้ซึ่งในน้ำคร่ำจะมีสารอาหารที่ทารกสามารถใช้ได้เข้าสู่กระเพาะอาหาร ดูดซึมและขับถ่ายออกมาเป็นปัสสาวะนั่นเอง
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 12
My Body
เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 3 ของการตั้งครรภ์ หรือ 12 สัปดาห์ จะเป็นช่วงที่ลูกน้อยในครรภ์มีพัฒนาการไปอย่างรวดเร็วมากและตัวคุณแม่เองก็เริ่มหน้าท้องขยายจนสามารถมองได้ชัดเจนว่าตั้งครรภ์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของคุณแม่และลูกน้อยมีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งดังนี้
การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่ คุณแม่ที่มีอาการแพ้ท้องจะเริ่มดีขึ้น อาการคลื่นไส้เวียนศีรษะในตอนเช้าๆ (Morning Sickness) จะค่อยๆ ดีขึ้น รวมถึงอาการไวต่อรสและกลิ่นก็จะค่อยๆ ดีขึ้น ยกเว้นคุณแม่บางท่านอาจจะยังมีอาการนี้อยู่ได้ถือเป็นเรื่องปกติ น้ำหนักตัวคุณแม่จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นหลังจากที่เริ่มหายแพ้ท้องแล้วสามารถรับประทานอาหารได้ดีขึ้น แต่ระบบการย่อยอาหารอาจยังไม่สามารถทำงานได้เต็มที่อาจจะมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อยเป็นปกติ เนื่องจากระดับฮอร์โมนที่เกิดจากการตั้งครรภ์เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้คุณแม่อาจจะมีอาการปวดศีรษะ นอนหลับไม่สนิทได้ หากมีอาการปวดศีรษะร่วมกับอาการวิงเวียนศีรษะควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุร่วมด้วย นอกจากนี้คุณแม่บางท่านจะเริ่มมีอาการตกขาวจากช่องคลอดได้ แต่สีของตกขาวจะต้องใสไม่มีกลิ่นและไม่มีอาการแสบ หรือคัน หากมีอาการอื่นๆ ถือว่าผิดปกติ
อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 12
Signs & Common Symptoms of Pregnancy
อาการทั่วไปของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในระยะนี้ หน้าท้องของคุณแม่จะเริ่มนูนชัดขึ้น คุณแม่ควรสวมชุดคลุมท้องได้ตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป สะโพกและเต้านมคุณแม่จะเริ่มขยาย หัวนมจะเริ่มมีสีคล้ำ และลานนมเริ่มขยาย นอกจากนี้เส้นเลือดที่หน้าอก หน้าท้อง ขา และน่องจะเริ่มขยาย ระยะนี้คุณแม่บางท่านอาจมีปัญหาเส้นเลือดขอดได้ ส่วนอาการแพ้ท้องจะค่อยๆ คลี่คลายลงในเดือนที่ 3 ขึ้นไป แต่ก็มีคุณแม่บางรายที่อาการแพ้ท้องมีอยู่เป็นระยะเวลานานกว่าปกติ ขึ้นกับสุขภาพและระดับฮอร์โมนในร่างกาย
การดูแลสุขภาพและการปฏิบัติตัวของคุณแม่
The Doc Says
ระยะนี้ลูกน้อยในครรภ์ต้องการสารอาหารเพื่อการเจริญเติบโต โดยเฉพาะโปรตีนและแคลเซียมเพื่อการเจริญเติบโต คุณแม่ควรจะดื่มนมและรับประทานผักใบเขียว เพื่อเสริมแคลเซียมให้กับลูกและตัวคุณแม่เองอย่างต่อเนื่อง
ดูแลรักษาความสะอาดของช่องปากและฟัน เนื่องจากคุณแม่อาจมีเลือดออกตามไรฟันได้ง่ายและฟันผุได้ง่าย จำเป็นต้องใช้ไหมขัดฟันขัดฟันตามซอก เพราะหากฟันผุ เชื้อแบคทีเรียในช่องปากสามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกได้ หากมีปัญหาสุขภาพช่องปากให้ไปพบทันตแพทย์เป็นการดีที่สุด
ระมัดระวังการใช้ยาทุกชนิด เพราะยามีผลต่อลูกและพัฒนาการของลูก หากคุณแม่เจ็บป่วยช่วงนี้ต้องไปโรงพยาบาลเท่านั้น ไม่ควรซื้อยามารับประทานเองและหากมีโรคประจำตัวก็รีบแจ้งแพทย์ให้ทราบ
บำรุงผิวด้วยครีมหรือโลชั่นสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอาการคันจากหน้าท้องขยายและผลจากระดับฮอร์โมนจากการตั้งครรภ์ที่สูงขึ้น หลีกเลี่ยงการเกาเมื่อคัน เพราะการทาครีมบำรุงช่วงนี้จะมีส่วนช่วยลดอาการท้องแตกลายเมื่อหน้าท้องขยายใหญ่ๆมากๆ ในไตรมาสถัดไป
รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ให้สารอาหารครบถ้วน เน้นอาหารที่สารอาหารโปรตีนสูง รับประทานไขมัน แป้งและน้ำตาลให้พอดี เพิ่มปริมาณวิตามินและเกลือแร่ในแต่ละมื้อให้เพียงพอ
พักผ่อนให้เพียงพอ อย่านอนดึก หลีกเลี่ยงความเครียด โดยการหากิจกรรมหรืองานอดิเรกทำ ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านในที่ที่ปลอดภัยได้โดยมีคนในครอบครัวคอยช่วยดูแลจะดีที่สุด
มาตรวจตามนัดทุกครั้ง ห้ามขาดนัดและปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ทำจิตใจให้ร่าเริง แจ่มใส และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เพราะการที่คุณแม่อารมณ์ดี ลูกน้อยในครรภ์สามารถรับรู้ได้ มีผลต่ออารมณ์ สภาพจิตใจและพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ให้เจริญเติบโตอย่างสมวัย มีความฉลาดทางสติปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์ในอนาคตต่อไป
+ M.D. Visit Planner: Talk to your doctor about chorionic villus sampling.