IN THIS SECTION
- อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 2
ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ก็ยังไม่ถือว่าคุณตั้งครรภ์อยู่ดี แต่เป็นช่วงเวลานาทีทองที่จะสามารถเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ เพราะเป็นช่วงของ การตกไข่ (Ovulation) หากคุณกับคู่รักมีเพศสัมพันธ์กันในช่วงที่ไข่ตกพอดี เชื้ออสุจิก็จะมีโอกาสได้พบกับไข่ และเกิดการปฎิสนธิ (Fertilization) จนนำไปสู่การตั้งครรภ์ในที่สุด โดยมีข้อควรรู้เกี่ยวกับการตกไข่ที่มีประโยชน์ในการวางแผนตั้งครรภ์ ดังนี้
- ประมาณวันที่ 14 ของรอบเดือน นับจากวันแรกที่คุณมีประจำเดือน หรืออาจจะเร็วกว่าหรือช้ากว่านี้เล็กน้อย จะเป็นช่วงที่รังไข่ปล่อยไข่ที่สุกออกมาตามท่อนำไข่ เพื่อรอรับการปฏิสนธิ
- วันที่ไข่ตกอาจไม่ใช่วันเดียวกันในแต่ละเดือน
- ไข่ที่ถูกปล่อยออกจากรังไข่แล้วจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 12-24 ชั่วโมงหลังการตกไข่ หากระหว่างนี้คุณมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการคุมกำเนิด ไข่ก็จะผสมกับเชื้ออสุจิและเกิดการปฏิสนธิกันได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ
- ตามปกติ ไข่จะถูกปล่อยออกมาเพียง 1 ใบเท่านั้นในช่วงการตกไข่
- ช่วงเวลาการตกไข่ สามารถคลาดเคลื่อนได้ หรืออาจไม่มีไข่ถูกปล่อยออกมาเลยก็ได้ โดยอาจได้รับผลกระทบจากความเครียด ความเจ็บป่วย การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว การออกกำลังกาย และแม้กระทั่งการนอนหลับ
- ในบางกรณี อาจพบว่ามีเลือดออกทางช่องคลอดในช่วงไข่ตก แต่ไม่ใช่ประจำเดือน แม้จะไม่ได้พบในผู้หญิงทุกคน แต่ก็เป็นเรื่องปกติ ไม่เป็นอันตราย
พัฒนาการของทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 2
My Baby This Week
ในระยะที่ชีวิตหนึ่งเริ่มก่อกำเนิดนี้ อนาคตทารกน้อยๆ ของคุณจะยังอยู่ในรูปแบบของไข่ที่ได้เกิดการปฏิสนธิแล้ว (Fertilized egg) โดยจะเกิดการแบ่งตัวของเซลล์ภายในอย่างรวดเร็วเกือบจะทันทีหลังจากที่ตัวอสุจิสามารถเจาะเปลือกไข่เข้าไปได้ และลักษณะทางพันธุกรรมของลูกน้อยของคุณก็ได้ถูกกำหนดขึ้นเรียบร้อยแล้วในขั้นตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นสีผม สีนัยน์ตา รวมถึงเพศของทารกด้วย แต่แน่นอนว่ายังไม่สามารถตอบได้ว่าอสุจิที่เจาะไข่เข้าไปได้นั้นมีโครโมโซม X หรือโครโมโซม Y ที่ทำหน้าที่ระบุเพศของตัวอ่อน ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องที่คุณแม่คุณพ่อต้องรอลุ้นในอีก 1-2 ข้างหน้า
ไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว จะล่องลอยในบริเวณท่อนำไข่ อยู่ประมาณ 3 วัน แล้วค่อยๆ เคลื่อนที่สู่โพรงมดลูกเพื่อเข้าสู่ระยะฝังตัวในเยื่อบุมดลูก เพื่อเตรียมตัวสำหรับพัฒนาการขั้นต่อไป
การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่
My Body
ในช่วงเวลาของการตกไข่นี้ เยื่อบุมดลูกจะก่อตัวหนาขึ้นเพื่อเตรียมรองรับไข่ที่เกิดการปฏิสนธิ พร้อมกันนั้นร่างกายจะหลั่งฮอร์โมน FSH (follicle-stimulating hormone) ซึ่งจะไปกระตุ้นให้เกิดการตกไข่ และหากคุณมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้ ตัวอสุจิก็เดินทางไปตามช่องคลอด จนไปเจอกับไข่ที่รออยู่แล้วตรงบริเวณท่อนำไข่ จนเกิดการปฏิสนธิในที่สุด
อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 2
Signs & Common Symptoms of Pregnancy
- ประจำเดือนขาดโดยปกติ หนึ่งรอบเดือนมีระยะเวลา 21-35 วัน แต่หากประจำเดือนขาดไปนานกว่า 10 วัน ก็อาจแสดงว่าคุณกำลังตั้งครรภ์
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- ปวดศีรษะ
- หงุดหงิดง่าย
- วิตกกังวล
- อารมณ์แปรปรวน
- รับประทานอาหารมากขึ้น
- ท้องอืดบ่อย
- ปัสสาวะบ่อยขึ้น
- ความรู้สึกไวต่อกลิ่นและความชอบในการกินที่เปลี่ยนไป
- ปวดเกร็งบริเวณท้องคล้ายปวดประจำเดือน
- มีตกขาว ซึ่งตามปกติ จะมีสีขาวและไม่มีกลิ่น แต่ถ้ามีกลิ่นหรือสีเปลี่ยนไป หรือมีอาการคันผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์
- มีเลือดออกทางช่องคลอด (Implantation Bleeding) หรือตามที่คนโบราณมักเรียกว่า “เลือดล้างหน้าเด็ก” แต่เลือดที่ออกมาในช่วงนี้จะต่างจากเลือดประจำเดือน โดยจะออกมาปริมาณเล็กน้อย และมีสีชมพูจางๆ หรือน้ำตาล ไม่ได้เป็นสีแดงสดเหมือนเลือดประจำเดือนตามปกติ อาการนี้ถือเป็นสิ่งปกติในหญิงตั้งครรภ์ และพบเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่มีอาการนี้ ดังนั้น ไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องกังวลมากนัก
คำแนะนำสำหรับคุณแม่
The Doc Says
หากคุณต้องการเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 นี้ คุณอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง พร้อมทั้งดูแลเอาใจใส่เรื่องสุขภาพร่างกายและการรับประทานอาหารเป็นพิเศษ โดยอาจต้องมีการรับประทานวิตามินเสริมก่อนการตั้งครรภ์ พร้อมทั้งงดอาหารบางประเภทและหยุดพฤติกรรม ดังต่อไปนี้
โดยอาจต้องมีการรับประทานวิตามินเสริมก่อนการตั้งครรภ์ พร้อมทั้งงดอาหารบางประเภทและหยุดพฤติกรรม ดังต่อไปนี้
- งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
- งดสารให้ความหวาน หรือน้ำตาลเทียม
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮออล์
- หยุดการใช้ยาเสพติด
- หยุดการสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการได้รับควันบุหรี่มือสอง
นอกจากนี้ ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับยารักษาโรคใดๆ ที่คุณกำลังใช้อยู่ว่ามีผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ของคุณหรือไม่ อย่างไร
เรามาลุ้นกันต่อว่าในสัปดาห์ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นกับคุณแม่และลูกน้อยอีกบ้าง