IN THIS SECTION
- อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 1
อันที่จริงแล้ว ในช่วงสัปดาห์แรกนั้น ยังไม่ถือว่าคุณตั้งครรภ์ แต่เป็นเพียงช่วงเวลาที่ร่างกายคุณกำลังเตรียมพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ ซึ่งหมายถึงการที่ร่างกายกำลังเตรียมการตกไข่ (Ovulation) หรือการปล่อยไข่ที่สุกแล้วออกมาจากรังไข่ตามธรรมชาติในทุกๆ รอบเดือนนั่นเอง แต่สัปดาห์นี้ก็จะถือเป็นสัปดาห์ที่ 1 ของการตั้งครรภ์
โดยเฉลี่ย รอบเดือนของผู้หญิงส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่าง 28-32 วัน และช่วงของการตกไข่จะอยู่ราวๆ วันที่ 11-21 นับจากวันแรกของรอบเดือน ซึ่งก็คือวันแรกที่คุณมีประจำเดือนนั่นเอง
การตกไข่ หรือการที่รังไข่จะปล่อยไข่ที่สุกออกมาเพื่อรอการปฏิสนธิ (Fertilization) ถือเป็นช่วงนาทีของการตั้งครรภ์ เพราะหากคุณมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้ ก็มีโอกาสที่ไข่จะเจอกับตัวอสุจิ และเกิดการปฏิสนธิในที่สุด
พัฒนาการของทารกในครรภ์ในสัปดาห์ที่ 1
My Baby This Week
แน่นอนว่าในสัปดาห์แรกนี้ ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเตรียมตัวตามธรรมชาติ หากคุณต้องการจะตั้งครรภ์ ก็เพียงรอช่วงที่ไข่ตก และร่วมมือกับคู่รักของคุณในการหาจังหวะที่เหมาะเจาะ เพื่อให้การตั้งครรภ์ประสบความสำเร็จ โชคดีที่ในปัจจุบัน มีเครื่องมือคำนวณช่วงเวลาไข่ตก เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ แค่เพียงระบุจำนวนวันของรอบเดือนของคุณ แล้วเครื่องมือก็จะคำนวณช่วงวันที่ไข่อาจตกให้เอง อย่างไรก็ตาม รอบเดือนของผู้หญิงแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน ทางที่ดี ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอรับคำแนะนำในการคำนวณช่วงเวลาของการตกไข่ เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้อีกทางหนึ่ง
การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่
My Body
แม้จะยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายใดๆ นอกจากอาการที่มาพร้อมประจำเดือนตามปกติที่คุณต้องเจอทุกๆ เดือน แต่หากคุณกำลังพยายามมีลูก ช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญในการเตรียมตัว โดยการใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกาย และการพักผ่อนที่เพียงพอ จะทำให้คุณมีความพร้อมและอาจเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้มากขึ้น
อาการที่พบบ่อยของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 1
Signs & Common Symptoms of Pregnancy
- ประจำเดือนขาด โดยปกติ หนึ่งรอบเดือนมีระยะเวลา 21-35 วัน แต่หากประจำเดือนขาดไปนานกว่า 10 วัน ก็อาจแสดงว่าคุณกำลังตั้งครรภ์
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- ปวดศีรษะ
- หงุดหงิดง่าย
- วิตกกังวล
- อารมณ์แปรปรวน
- รับประทานอาหารมากขึ้น
- ท้องอืดบ่อย
- ปัสสาวะบ่อยขึ้น
- ความรู้สึกไวต่อกลิ่นและความชอบในการกินที่เปลี่ยนไป
- ปวดเกร็งบริเวณท้องคล้ายปวดประจำเดือน
- มีตกขาว ซึ่งตามปกติ จะมีสีขาวและไม่มีกลิ่น แต่ถ้ามีกลิ่นหรือสีเปลี่ยนไป หรือมีอาการคันผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์
- มีเลือดออกทางช่องคลอด (Implantation Bleeding) หรือตามที่คนโบราณมักเรียกว่า “เลือดล้างหน้าเด็ก” แต่เลือดที่ออกมาในช่วงนี้จะต่างจากเลือดประจำเดือน โดยจะออกมาปริมาณเล็กน้อย และมีสีชมพูจางๆ หรือน้ำตาล ไม่ได้เป็นสีแดงสดเหมือนเลือดประจำเดือนตามปกติ อาการนี้ถือเป็นสิ่งปกติในหญิงตั้งครรภ์ และพบเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่มีอาการนี้ ดังนั้น ไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องกังวลมากนัก
คำแนะนำสำหรับคุณแม่
The Doc Says
หากคุณกำลังตั้งใจจะมีลูก นอกจากการดูแลเอาใจใส่เรื่องสุขภาพร่างกายและอาหารการกินแล้ว อาจต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง โดยอาจปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาเสพติด และการสูบบุหรี่ เนื่องจากสารอันตรายเหล่านี้อาจก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ ระบบทางเดินหายใจ และโรคอื่นๆ ที่อาจตามมา
- ขอคำปรึกษาจากเภสัชกรหรือแพทย์ในการรับประทานยาใดๆ ทั้งที่ได้รับการสั่งจากแพทย์ หรือยาที่ซื้อมารับประทานเอง เพื่อพิจารณาว่าตัวยาแต่ละชนิดที่คุณใช้จะส่งผลอย่างไร หากคุณต้องการตั้งครรภ์ โดยแพทย์หรือเภสัชกรจะให้คำแนะนำได้ว่า ควรหยุดใช้ยาตัวใด หรือสามารถรับประทานยาตัวใดต่อได้
- รับประทานอาหารที่ประกอบด้วยสารอาหารจำเป็นและวิตามินที่เพียงพอ โดยเฉพาะกรดโฟลิก หรือ โฟเลต
ซึ่งจำเป็นต่อหญิงวัยเจริญพันธุ์และหญิงตั้งครรภ์ โดยองค์การอนามัยโลก แนะนำว่า สำหรับผู้หญิงที่ต้องการจะมีลูก ควรรับประทานวิตามินโฟลิก ตั้งแต่ช่วงก่อนตั้งครรภ์ ต่อเนื่องจนถึง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เพื่อช่วยให้การสร้างหลอดประสาทของตัวอ่อนภายใน 28 วันแรกหลังปฏิสนธิเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยปริมาณที่แนะนำ คือ 0.4 มิลลิกรัมต่อวัน - รับประทานอาหารวิตามินดี เสริม ปริมาณ 10 ไมโครกรัม ต่อวัน
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อ เช่น เนื้อดิบ ไข่ที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ
- ระวังการได้รับวิตามินเอในปริมาณที่มากเกินไป
+ สิ่งที่ควรทำ : บันทึกรอบเดือนครั้งสุดท้าย
สูตินารีแพทย์
การพบสูตินารีแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆที่ทราบว่ากำลังตั้งครรภ์ จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับคุณแม่และคุณพ่อ เพราะมีหลายสิ่งที่คุณแม่และคุณพ่อจำเป็นต้องรู้เพื่อใช้ในการวางแผนการตั้งครรภ์ที่สมบูรณ์และปลอดภัย สูตินารีแพทย์จะให้คำแนะนำและข้อมูลหลายส่วน เช่น ภาวะเจริญพันธ์ุ, ข้อคำนึงเรื่องสุขภาพยีนและพันธุกรรม, ความปลอดภัยในการใช้ยาของคนตั้งครรภ์ รวมถึงการปรับตัวในช่วงการตั้งครรภ์ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ถือเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นที่ต้องทราบและเตรียมพร้อม
+ สิ่งที่ต้องทำ : จัดตารางเวลาเพื่อนัดหมายสูตินารีแพทย์