ช่วงเวลานอนหลับของเด็กวัยแรกเกิด (Newborn) เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากและสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เด็กบางคนอาจนอนหลับในระยะเวลาที่นานและบ่อยครั้ง ขณะที่เด็กบางคนอาจนอนหลับในระยะเวลาอันสั้นแต่บ่อยครั้ง อย่างไรก็ตามเด็กในวัยนี้มักนอนหลับรวมแล้วประมาณ 16 ชั่วโมง ถึง 20 ชั่วโมงใน 24 ชั่วโมง แต่ความถี่ของการนอนหลับและการตื่นก็ขึ้นอยู่กับลูกน้อยของคุณแม่คุณพ่อแต่ละท่าน อย่างไรก็ตามคุณแม่คุณพ่อสามารถกล่อมให้ลูกน้อยนอนหลับได้ง่ายขึ้นและนานขึ้นในช่วงเวลากลางคืนได้หากคุณแม่คุณพ่อปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- เปิดไฟสลัวหรือปิดไฟให้มืดสนิทภายในห้องที่ลูกน้อยนอน
- ทำให้สภาพแวดล้อมภายในห้องนั้นเงียบสงบ
- ไม่เปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกน้อยในเวลากลางคืนหากไม่จำเป็น
- ไม่เล่นกับลูกน้อยหรือทำกิจกรรมที่กระตุ้นให้ลูกน้อยตื่น
นอกจากนี้ยังมีวิธีการช่วยกล่อมลูกน้อยให้ง่วงนอนและหลับสนิทได้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืนดังนี้
- อุ้มลูกน้อยแล้วโยกตัวช้าๆเป็นจังหวะร่วมกับการพูดหรือร้องเพลงให้ลูกน้อยฟังด้วยเสียงที่เบาและนุ่มนวล การทำเช่นนี้จะช่วยให้ลูกน้อยผ่อนคลายมากขึ้น

- เมื่อคุณแม่คุณพ่อวางลูกน้อยลงในเปล (Crib) ขณะที่ลูกน้อยสลึมสลือแต่ยังไม่หลับสนิท ลูบศีรษะหรือนวดฝ่ามือ ฝ่าเท้าของลูกน้อยอย่างนุ่มนวลไปเรื่อยๆจนลูกน้อยผลอยหลับไป

- ทำให้ช่วงเวลากลางวันเป็นช่วงเวลาของการเล่น กระตุ้นลูกน้อยด้วยการเล่นและพูดคุยเพื่อให้ลูกน้อยตื่นนานขึ้นในเวลากลางวัน การทำเช่นนี้จะช่วยให้ลูกน้อยนอนหลับได้ในระยะเวลาที่นานขึ้นในเวลากลางคืน
- พยายามหาสาเหตุของการตื่นในเวลากลางคืนของลูกน้อย เด็กในวัยนี้มักตื่นในเวลากลางคืนเนื่องจากความรู้สึกหิว มีการขับถ่ายเบาหรือหนัก อุณหภูมิภายในห้องนอนอาจเย็นจนเกินไปหรือร้อนจนเกินไป ไปจนถึงการรู้สึกไม่สบายกายซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการป่วย อย่างไรก็ตามคุณแม่คุณพ่อไม่ควรตอบสนองทุกครั้งที่ได้ยินเสียงของลูกน้อย ควรรอให้ลูกน้อยได้ลองผลอยหลับด้วยตัวเองเสียก่อน
สำหรับสถานที่นอนหลับของเด็กวัยแรกเกิดถึงวัย 1 ปี กุมารแพทย์ (Pediatrician) แนะนำให้ลูกน้อยนอนในเปล ภายในห้องนอนเดียวกันกับคุณแม่คุณพ่อ เนื่องจากผลการวิจัยชี้ว่าจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคการเสียชีวิตเฉียบพลันในเด็ก (SIDS) ได้ อย่างไรก็ตามหากลูกน้อยนอนหลับได้น้อยกว่าปกติ ร้องไห้รุนแรงและคุณแม่คุณพ่อไม่สามารถกล่อมให้ลูกน้อยผ่อนคลายได้ ควรเข้าพบกุมาร์แพทย์ทันที