สำหรับคุณแม่คุณพ่อมือใหม่หลายท่าน ช่วงสัปดาห์แรกในการเลี้ยงดูลูกน้อยวัยแรกเกิด (Newborn) อาจเป็นช่วงเวลาที่ลำบากเนื่องจากเด็กยังต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกภายนอกครรภ์ (Womb) และเด็กเองก็ยังไม่สามารถแยกช่วงเวลากลางวันกับกลางคืนออกจากกันได้ โดยปกติแล้วเด็กในวัยนี้จะนอนหลับรวมแล้ว 14 ชั่วโมง ถึง 17 ชั่วโมงใน 24 ชั่วโมง แต่เด็กก็ไม่สามารถหลับได้นานนักโดยไม่ดื่มนมเลย ดังนั้นเด็กจึงตื่นขึ้นมาประมาณ 2 ชั่วโมง ถึง 3 ชั่วโมงก่อนจะนอนหลับอีกครั้งหนึ่ง เป็นเช่นนี้ไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืนจนกว่าลูกน้อยจะมีอายุครบ 3 เดือน
แม้เด็กแรกเกิดจะไม่สามารถนอนหลับได้ในระยะเวลาที่นานเมื่อเทียบกับเด็กที่โตกว่าอย่างเด็กวัยก่อนเรียน (Preschooler) แต่คุณแม่คุณพ่อก็สามารถช่วยให้ลูกน้อยนอนหลับได้สนิทและนานขึ้นได้ด้วยวิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้
- คุณแม่คุณพ่อไม่ควรรอให้ลูกน้อยเหนื่อยมากเกินไป (Overtired baby) แล้วค่อยวางลูกน้อยลงในเปลนอน (Crib) แต่ควรมองหาสัญญาณอาการเหนื่อยของลูกน้อยเช่น การหาว การขยี้ตา อาการหงุดหงิด แล้วจึงวางลูกน้อยลงในเปลนอนเพื่อให้ลูกน้อยได้ผลอยหลับไปด้วยตัวเอง

- พยายามให้ลูกน้อยตื่นขณะการให้นม (Feeding) หากลูกน้อยผลอยหลับขณะการให้นม เขาจะไม่อิ่มและจะตื่นเร็วขึ้น โดยคุณแม่สามารถปลุกลูกน้อยให้ตื่นได้ง่ายๆด้วยการลูบมือและเท้าของเขา ลูบหน้าผาก ใบหน้าและคอของลูกน้อยด้วยทิชชู่เปียกสำหรับเด็กหรือผ้าสะอาดชุบน้ำหมาดๆ
- แยกช่วงเวลาการให้นมออกจากช่วงเวลาการนอน คุณแม่คุณพ่อไม่ควรให้นมลูกน้อยเพื่อหวังให้ลูกน้อยหลับได้เร็วขึ้น หากลูกน้อยคุ้นเคยกับกิจวัตรเช่นนี้ เขาจะสามารถหลับได้เฉพาะเมื่อได้ดื่มนมเท่านั้น ดังนั้นเมื่อลูกน้อยอิ่มท้องแล้วจึงชวนลูกน้อยเล่น ทำกิจกรรมร่วมกับลูกน้อยจนเขาแสดงความง่วงออกมาแล้วจึงพาลูกน้อยเข้านอน

- คุณแม่คุณพ่อไม่ควรให้นมลูกน้อยมากจนเกินความจำเป็น (Overfeed) การที่ลูกน้อยอิ่มมากเกินไปจะทำให้เขารู้สึกไม่สบายกายและนอนหลับได้น้อยลง
สิ่งสำคัญที่คุณแม่คุณพ่อควรตระหนักถึงคือถึงแม้ลูกน้อยจะนอนหลับยากและตื่นในเวลากลางคืน แต่คุณแม่คุณพ่อไม่ควรให้ลูกน้อยทานยาหรือดื่มแอลกอฮอลล์เป็นอันขาด หากลูกน้อยมีพฤติกรรมนอนหลับยาก นอนหลับได้น้อย ร้องไห้มากกว่าปกติ คุณแม่คุณพ่อควรปรึกษากุมารแพทย์ (Pediatrician) ทันที