การเลี้ยงดูลูกน้อยในวัยแรกเกิด (Newborn) ไปพร้อมๆกับการได้นอนหลับอย่างเต็มอิ่มอาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่การทำให้ช่วงเวลาการนอนและการตื่นของลูกน้อยเป็นกิจวัตรที่คาดเดาได้มากขึ้น (Baby Bedtime Routine) ไปพร้อมๆกับการฝึกให้ลูกน้อยนอนหลับได้ด้วยตัวเอง จะทำให้คุณแม่คุณพ่อมีเวลาพักผ่อนที่มากขึ้นได้ โดยปกติแล้วเด็กในวัยแรกเกิดจะนอนหลับรวมแล้วประมาณ 16 ชั่วโมง ถึง 20 ชั่วโมงใน 24 ชั่วโมง แบ่งเป็นนอนหลับ 1 ชั่วโมง ถึง 4 ชั่วโมง และตื่นเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ถึง 2 ชั่วโมง เป็นเช่นนี้ทั้งในเวลากลางวันและเวลากลางคืน สาเหตุของการตื่นและร้องไห้ในเวลากลางคืนของลูกน้อยในวัยนี้มักมาจากความหิว คุณแม่ควรให้นม (Feeding) ตามที่ลูกน้อยต้องการก่อนจะกล่อมลูกน้อยให้นอนหลับอีกครั้ง
แท้จริงแล้วการฝึกให้ลูกน้อยนอนด้วยตัวเองและนอนได้ในระยะเวลาที่นานขึ้นมักจะเริ่มเมื่อลูกน้อยมีอายุได้ 4 เดือน ถึง 6 เดือน อย่างไรก็ตามคุณแม่คุณพ่อสามารถเริ่มฝึกลูกน้อยได้ตั้งแต่วัยแรกเกิด แต่ควรทำอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัดเพื่อให้ลูกน้อยได้เรียนรู้และคุ้นเคยกับช่วงเวลาการนอนและการตื่นที่เป็นระบบมากขึ้น โดยคุณแม่คุณพ่อสามารถฝึกให้ลูกน้อยนอนได้เองและนอนได้ในระยะเวลาที่นานขึ้นดังนี้
- เทคนิคยอมให้ลูกน้อยร้องไห้ (Cry it out) โดยให้คุณแม่คุณพ่อวางลูกน้อยลงในเปล (Crib) เมื่อลูกน้อยแสดงพฤติกรรมง่วงนอน สลึมสลือ แต่ยังไม่หลับสนิท เพื่อให้ลูกน้อยได้ผลอยหลับไปได้ด้วยตัวเองโดยที่คุณแม่คุณพ่อไม่ต้องกล่อมหรืออุ้มกอด เมื่อคุณแม่คุณพ่อเดินออกจากห้องไป ลูกน้อยอาจร้องไห้บ้างแต่ขอให้คุณแม่คุณพ่ออดทนและรอให้เวลาผ่านไปสักระยะหนึ่งก่อนเข้าไปปลอบประโลมลูกน้อย แม้การได้ยินเสียงลูกน้อยร้องไห้จะสร้างความลำบากใจให้กับคุณแม่คุณพ่อบ้าง แต่ไม่นานนักลูกน้อยจะคุ้นเคยกับกิจวัตรนี้และนอนหลับได้นานขึ้น
- เทคนิคไร้น้ำตา (No tears technique)
หากคุณแม่คุณพ่อกังวลใจและไม่ประสงค์ให้ลูกน้อยร้องไห้บ่อยครั้ง เทคนิคนี้อาจเป็นทางออกที่เหมาะสมแม้จะใช้เวลามากกว่าเทคนิคยอมให้ลูกน้อยร้องไห้ออกมาก็ตาม โดยเมื่อลูกน้อยเข้านอนในเปลแล้ว ให้คุณแม่คุณพ่อนั่งอยู่ในห้องกับลูกน้อยเสียก่อนจนเมื่อลูกน้อยหลับสนิทจึงค่อยเดินออกมา ในคืนถัดไปขอให้คุณแม่คุณพ่อขยับเก้าอี้ออกมาให้ไกลจากเปลนอนของลูกน้อยมากขึ้น ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆจนสามารถขยับเก้าอี้ออกมาภายนอกห้องได้ - คุณแม่คุณพ่อไม่ควรเข้าไปปลอบประโลมลูกน้อยทุกครั้งเมื่อได้ยินเสียงของลูกน้อย บางครั้งเด็กอาจตื่นขึ้นมาแล้วส่งเสียงก่อนจะผลอยหลับไปได้เองอีกครั้งหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ ดังนั้นเมื่อคุณแม่คุณพ่อได้ยินเสียงของลูกน้อย ขอให้หยุดรอที่หน้าประตูก่อนเพื่อให้แน่ใจว่าลูกน้อยร้องไห้จริงๆจึงค่อยเข้าไปปลอบประโลม
- เปิดผ้าม่านให้แสงแดดลอดผ่านเข้ามาในเวลากลางวัน และปิดผ้าม่าน ปิดไฟ ส่งเสียงให้น้อยที่สุดในเวลากลางคืน เพื่อให้ลูกน้อยได้เรียนรู้ถึงความแตกต่างระหว่างเวลากลางวันกับกลางคืน