IN THIS SECTION
- พัฒนาการของเด็กในภาพรวมของเด็กวัย 8 เดือน
- พัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสาร
- การเจริญเติบโตและสุขภาพของเด็กวัย 8 เดือน
- เคล็ดลับสำหรับคุณแม่ในการเลี้ยงลูกน้อย
เมื่อเด็ก (Toddler) มีอายุได้ 8 เดือน คุณแม่คุณพ่ออาจจะต้องเหนื่อยมากขึ้นกับการคอยตามดูแลลูกน้อย แต่นั่นก็เป็นหนึ่งในสัญญาณของการมีพัฒนาการที่ดี โดยเด็กในวัยนี้เริ่มที่จะอยากเรียนรู้เกี่ยวกับโลกรอบตัวของเขา ไม่ใช่แค่เพียงสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่คุ้นเคยอีกต่อไป เด็กจะมีความอยากรู้อยากเห็น อยากสัมผัสทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวเขา และที่สำคัญคือเด็กส่วนมากสามารถที่จะคลาน (Crawling or Shuffling) ได้แล้วในช่วงนี้ ทำให้คุณแม่คุณพ่อต้องคอยตามดูแลลูกน้อยไม่ให้คลาดสายตานั่นเอง นอกจากที่เด็กจะคลานได้แล้ว เด็กยังสามารถที่จะลุกขึ้นยืนได้เองด้วยการจับเฟอร์นิเจอร์อย่าง โซฟา เก้าอี้ เตียง เพื่อดันตัวเองให้ลุกขึ้นยืนตัวตรง อย่างไรก็ตามคุณแม่คุณพ่อก็ยังควรต้องช่วยประคองลูกน้อย ในด้านพัฒนาการทางสติปัญญา (Cognitive development) ลูกน้อยจะเริ่มแสดงออกว่าเขาชอบที่จะอยู่กับสมาชิกคนใดในบ้านพิเศษ และแสดงออกถึงความวิตกกังวลเมื่อต้องพรากจากคุณแม่คุณพ่อ (Separation anxiety)
พัฒนาการของเด็กในภาพรวม
Toddler’s developmental milestone
ในด้านพัฒนาการควบคุมกล้ามเนื้อ (Motor skills) และเคลื่อนไหวร่างกาย (Physical development) เด็กในวัย 8 เดือนสามารถที่จะนั่งตัวตรงได้ด้วยตัวเองแล้ว และสามารถเปลี่ยนจากท่านั่งมาอยู่ในท่าคลาน (Crawling position) ได้เช่นกัน โดยการคลานนั้นอาจเป็นการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยหน้าท้อง หรือเป็นท่าคลานที่พบเห็นได้บ่อยครั้งด้วยการใช้มือและหัวเข่า ด้วยการประสานงานของดวงตาและมือ (Eyes and hands coordination) จะทำให้เด็กสามารถที่จะมองเห็นของเล่นที่อยู่ตรงหน้า คลานไปหาของเล่นชิ้นนั้น และหยิบขึ้นมาเล่นได้โดยไม่ติดปัญหาอะไร แต่หากลูกน้อยของคุณแม่คุณพ่อยังไม่คลานเสียที ก็ไม่ใช่สิ่งผิดปกติอะไรเนื่องจากเด็กบางคนอาจข้ามการคลานไปเคลื่อนไหวด้วยการเดินเมื่อมีอายุมากกว่านี้ก็ได้ อย่างไรก็ตามหากคุณแม่คุณพ่อมีความกังวลใจหรือพบว่าลูกน้อยไม่เคลื่อนไหวร่างกายตามที่ควรจะเป็นก็ควรปรึกษากุมารแพทย์ (Pediatrician) เพื่อขอคำแนะนำ
เด็กสามารถหยิบสิ่งของชิ้นเล็กได้
ด้วยพัฒนาการการควบคุมกล้ามเนื้อมัดเล็ก (Fine motor skills) ที่ดีขึ้น นอกจากที่เด็กจะสามารถจับและถือสิ่งของได้อยู่มือแล้ว เด็กในวัยนี้ยังรู้จักการใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ในการหยิบสิ่งของชิ้นเล็กขึ้นมาสำรวจไปจนถึงนำเข้าปาก ดังนั้นคุณแม่คุณพ่อควรตรวจสอบพื้นภายในบ้านอยู่ตลอดเวลาไม่ให้มีสิ่งแปลกปลอมหรือเศษอาหารตกอยู่บนพื้น โดยเฉพาะสิ่งของชิ้นเล็กที่มีความแข็งอย่าง ลูกปัด ก้อนกรวด และอาหารที่มีความแข็งอย่าง ถั่วต่างๆ เนื่องจากอาจเข้าไปติดคอลูกน้อยได้
พัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสาร
Toddler’s language and communication development
เด็กในวัย 8 เดือนนั้นมีความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวของเขามากขึ้นแล้ว รวมไปถึงกิจวัตรประจำวัน เด็กจะเริ่มเข้าใจว่าเตียงนอนหมายถึง เวลานอน เก้าอี้สูงหมายถึง เวลาทานอาหาร และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเชื่อมโยงภาพที่เห็นเข้ากับคำศัพท์นั่นเอง นอกจากนี้จากที่เคยพูดออกเสียงคำหนึ่งพยางค์และไม่เข้าใจความหมายเลย ตอนนี้เด็กเริ่มที่จะพูดคำว่าแม่และพ่อโดยเข้าใจว่าใครคือคุณแม่ ใครคือคุณพ่อ รวมไปถึงเข้าใจคำง่ายๆที่ได้ยินเป็นประจำเช่น บ๊ายบาย ไม่ ใช่ เป็นต้น
ในด้านพัฒนาการการสื่อสาร (Communication development) เด็กในวัยนี้เริ่มที่จะมีความรู้สึกชอบและไม่ชอบสิ่งต่างๆแล้ว ดังนั้นคุณแม่คุณพ่ออาจเห็นเด็กพยายามสื่อสารผ่านสีหน้าว่าชอบอะไรหรือไม่ชอบอะไร เช่นเมื่อคุณแม่ให้ลูกน้อยทานผักสีเขียวต้ม ลูกน้อยอาจทำหน้าบึ้ง ขณะที่เมื่อให้ลูกน้อยทานกล้วยบด ลูกน้อยอาจยิ้ม
การเจริญเติบโตและสุขภาพของเด็ก
Toddler’s growth and health
สำหรับการเจริญเติบโตที่เป็นไปตามเกณฑ์ของเด็กวัย 8 เดือนนั้น เด็กควรที่จะมีการขับถ่าย เปลี่ยนผ้าอ้อมประมาณ 8 ชิ้นหรือมากกว่าต่อหนึ่งวัน หากลูกน้อยมีการขับถ่ายที่น้อยกว่านี้อาจหมายความว่าลูกน้อยทานอาหาร ดื่มนม ไม่มากพอ นอกจากนี้เด็กในวัยนี้ควรที่จะช่วงเวลาการนอน รวมกับช่วงเวลาการงีบหลับระหว่างวันแล้ว อยู่ที่ 13 ถึง 14 ชั่วโมงต่อหนึ่งวัน หากลูกน้อยไม่ยอมนอนหลับหรือมีปัญหาหลับยาก คุณแม่คุณพ่อควรพาลูกน้อยเข้าพบกุมารแพทย์
ในด้านโภชนาการอาหาร ลูกน้อยยังควรได้รับน้ำนมแม่ (Breast milk) หรือ น้ำนมทดแทน (Formula feeding) เป็นแหล่งสารอาหารหลักอยู่ ขณะเดียวกันในตอนนี้ลูกน้อยอาจมีความชื่นชอบอาหารผู้ใหญ่ (Solid food) มากขึ้นเนื่องจากมีความคุ้นเคยแล้ว โดยเด็กในวัยนี้สามารถที่จะทานอาหารที่นิ่ม หั่นเป็นชิ้นเล็กๆได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องบดละเอียดเสมอไป เช่น กล้วยสุกชิ้นเล็ก ขนมปังนิ่มชิ้นเล็ก เป็นต้น หากลูกน้อยมีท่าทีไม่อยากดื่มนมหลังการทานอาหารผู้ใหญ่ ขอให้คุณแม่คุณพ่อลองให้ลูกน้อยดื่มนมอีกครั้งในเวลาของวัน หรือหากลูกน้อยมีปัญหาในการดื่มนมให้เพียงพอต่อความต้องการในหนึ่งวัน คุณแม่คุณพ่อก็ควรลดปริมาณอาหารผู้ใหญ่ลง หรือให้ลูกน้อยทานอาหารผู้ใหญ่หลังการดื่มนม ข้อควรระวังคือเด็กในวัยนี้ยังไม่ควรได้รับนมวัว จนกว่าจะมีอายุครบ 12 เดือน
สำหรับสัญญาณเตือนถึงปัญหาสุขภาพหรือภาวะเรียนรู้ช้าในเด็กวัย 8 เดือนมีดัง
- มีอาการเกร็งเมื่อพยายามนั่งตัวตรง
- ไม่ส่งเสียงพูดและจำเสียงของคุณแม่คุณพ่อไม่ได้
- ใช้มือหนึ่งในการทำกิจกรรมมากกว่ามืออีกข้างหนึ่งมากเกินไป
- มีปัญหาในการทานอาหารผู้ใหญ่
เคล็ดลับสำหรับคุณแม่ในการเลี้ยงลูกน้อย
Postpartum Tips
ในช่วงนี้คุณแม่อาจรู้สึกเหนื่อยล้ามากขึ้นกับพัฒนาการของลูกน้อยที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว สิ่งที่คุณแม่ควรทำเมื่อรู้สึกเหนื่อยล้าหรืออารมณ์เสียคือพาลูกน้อยไปอยู่ในห้องนอน หรือให้สมาชิกภายในครอบครัวมาช่วยดูแลลูกน้อยแทนสักครู่หนึ่งขณะที่คุณแม่ไปผ่อนคลายในห้องที่เงียบ หรือเดินออกไปสูดอากาศภายนอกบ้าน ขอให้คุณแม่เข้าใจว่าการรู้สึกอารมณ์เสีย หงุดหงิด และเหนื่อยล้านั้นสามารถเกิดขึ้นได้เป็นปกติ และไม่ใช่สิ่งที่ผิด ขอให้คุณแม่ผ่อนคลายให้รู้สึกสบายใจก่อนที่จะกลับไปหาลูกน้อยอีกครั้งหนึ่ง การตีลูกน้อยหรือเขย่าลูกน้อยนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งเนื่องจากจะส่งผลเสียต่อสมองของเด็ก
ให้ลูกน้อยได้รู้จักอาหารใหม่ๆ
เด็กในวัยนี้มักเริ่มแสดงความชอบและไม่ชอบแล้ว ขณะเดียวกันก็สามารถเคี้ยวอาหารนิ่มๆชิ้นเล็กๆได้แล้วเช่นกัน ดังนั้นคุณแม่คุณพ่อสามารถที่จะให้ลูกน้อยได้ลองอาหารใหม่ๆที่เขาไม่เคยทานมาก่อนและสังเกตการณ์แสดงสีหน้าของลูกน้อยว่าเขาชอบหรือไม่ โดยอาหารใหม่ๆนี้สามารถเป็นผักชนิดใหม่ๆที่เด็กไม่เคยทานมาก่อน อาจเป็นเนื้อสัตว์ต้มสุกหั่นชิ้นเล็กหรือบดหยาบ ข้าวหุงสุก ขนมปังนิ่ม ข้าวโอ๊ตต้มสุก ซีเรียลผสมน้ำนมคุณแม่หรือน้ำนมทดแทน ข้อควรระวังคือไม่ควรให้ลูกน้อยทานอาหารที่มีน้ำตาล และไม่ควรให้ลูกน้อยทานนมวัว
พาลูกน้อยออกไปข้างนอก
เนื่องจากเด็กเริ่มที่จะอยากรู้เกี่ยวกับโลกรอบตัวเขามากขึ้น มีความอยากรู้อยากเห็นไปเสียหมด การพาลูกน้อยออกไปข้างนอกก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะช่วยให้ลูกน้อยได้เรียนรู้ผ่านการสังเกตการณ์ หรือหากเป็นพื้นที่ปลอดภัยอย่างสวนภายในบริเวณบ้าน ลูกน้อยก็สามารถที่จะนั่ง คลาน ยืน และสังเกตการณ์สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นรอบๆได้ แต่ข้อควรระวังคือไม่ควรให้ลูกน้อยนำหญ้า ก้อนหิน ก้อนกรวด และดิน เข้าปาก