IN THIS SECTION
- พัฒนาการของเด็กวัย 6 เดือนในภาพรวม
- การเจริญเติบโตและสุขภาพของเด็ก
- เคล็ดลับสำหรับคุณแม่ในการเลี้ยงลูกน้อย
ช่วงวัย 6 เดือนถือเป็นช่วงที่น่าตื่นเต้นสำหรับเด็ก (Toddler) และคุณแม่คุณพ่อด้วย หลังจากนี้ลูกน้อยจะมีพัฒนาการที่รวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากสมองซีกซ้ายเริ่มทำงานประสานกับซีกขวาได้ดีขึ้น ทำให้เด็กขยับเขยื้อนร่างกายได้ดีขึ้นโดยอาจเห็นได้จากการที่เด็กสามารถพลิกตัว (Roll over) ได้ทุกด้านนั่นคือคว่ำไปหงาย และหงายไปคว่ำ นอกจากนี้ยังเริ่มที่จะนั่งและยืนขึ้นด้วยความช่วยเหลือจากคุณแม่คุณพ่อ นอกจากนี้เด็กยังเริ่มทำการสื่อสารกับคุณแม่คุณพ่อด้วยการแสดงออกทางสีหน้า เด็กบางคนยังเริ่มหัดออกเสียงที่คุ้นเคยเช่นคำว่า แม่ พ่อ ได้อีกด้วย ดังนั้นเมื่อลูกน้อยมีการแสดงออกทางสีหน้าและเริ่มออกเสียงเป็นคำที่ไม่มีความหมายออกมา คุณแม่คุณพ่อควรตอบรับด้วยการมองตาลูกน้อย แสดงออกทางสีหน้า และชวนลูกน้อยพูดคุยเพื่อช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการด้านการสื่อสารและการเข้าสังคม (Language and Socializing developments)
พัฒนาการของเด็กในภาพรวม
Toddler’s developmental milestone
เมื่อเด็กก้าวเข้าสู่วัย 6 เดือน พัฒนาการที่สำคัญในช่วงนี้คือพัฒนาการด้านการควบคุมกล้ามเนื้อ (Physical development) โดยเด็กในวัยนี้สามารถที่จะพลิกตัวได้อย่างคล่องแคล่ว เริ่มหัดนั่งและรู้จักที่จะถ่ายน้ำหนักไปที่บริเวณขาเมื่อยืน แต่ก็ยังต้องการความช่วยเหลือจากคุณแม่คุณพ่อในการช่วยพยุงและจัดท่วงท่าให้ นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญคือเด็กเริ่มอยู่ในท่าคลาน รู้จักโยกตัวไปด้านหลังและด้านหน้า บางครั้งคลานถอยหลังก่อนที่จะรู้จักคลานไปด้านหน้าได้ และในด้านพัฒนาการด้านสติปัญญา (Cognitive development) เด็กจะชอบสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัวผ่านการจับและการนำสิ่งของเข้าปาก เพื่อรับรู้สัมผัสที่ริมฝีปากและรับรู้รสชาติ รวมไปถึงเด็กยังมีความสามารถในการลอกเลียนแบบท่าทางและเสียงที่เกิดขึ้นรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นเสียงของคุณแม่คุณพ่อ เสียงร้องของสัตว์ หรือเสียงเพลง ได้อีกด้วย
ลูกน้อยเริ่มกลัวคนแปลกหน้า (Toddler’s fear of strangers)
เนื่องด้วยพัฒนาการด้านสติปัญญาที่ดีมากขึ้น ทำให้เด็กในวัย 6 เดือนสามารถที่จะแยกแยะได้แล้วว่าใครคือคุณแม่คุณพ่อ ใครคือญาติ และใครคือคนแปลกหน้า ดังนั้นเด็กจะเริ่มแสดงอาการกังวลเมื่อพบเจอคนแปลกหน้า ไปจนถึงแสดงอาการกลัวและอาจร้องไห้ออกมาเนื่องจากรู้สึกไม่ปลอดภัย
ลูกน้อยเริ่มหัดใช้เสียง

เมื่อเข้าสู่ช่วง 6 เดือน ลูกน้อยของคุณแม่คุณพ่ออาจไม่ใช่เด็กที่เงียบอีกต่อไป เด็กในวัยนี้จะเริ่มให้ความสนใจกับเสียงที่เกิดขึ้นรอบตัวมากขึ้น เด็กจะชื่นชอบและมีความสุขเมื่อได้ยินเสียงของตัวเอง นอกจากนี้ลูกน้อยยังเริ่มหัดออกเสียงหนึ่งพยางค์ อาจเป็นคำที่มีความหมายหรือไม่มีความหมายก็ได้ รวมไปถึงยังชอบออกเสียงขณะส่องกระจกและขณะเล่นของเล่น
พัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสาร
Toddler’s language and communication development
เนื่องจากลูกน้อยสามารถออกเสียงหนึ่งพยางค์ได้แล้ว ตอนนี้ลูกน้อยจึงเริ่มหัดสื่อสาร ตอบโต้กับคุณแม่คุณพ่อผ่านการออกเสียงหนึ่งพยางค์ เด็กยังรู้จักการใช้โทนเสียงและสระของเสียงที่หลากหลายเช่น อู อา เอ เอ๋ เป็นต้นแม้จะยังไม่รู้จักวิธีใช้ก็ตาม นอกจากนี้เด็กยังเริ่มที่จะใช้เสียงไปพร้อมๆกับการแสดงออกทางสีหน้าเพื่อสื่อสารความรู้สึกให้คุณแม่คุณพ่อได้รับรู้ และลอกเลียนแบบท่าทางบางท่าทางของคุณแม่คุณพ่อเพื่อใช้สำหรับการสื่อสารเช่น พยักหน้าซึ่งหมายความว่าใช่ ส่ายหน้าซึ่งหมายความว่าไม่ เป็นต้น
การเจริญเติบโตและสุขภาพของเด็ก
Toddler’s growth and health
ช่วงนี้ถือเป็นช่วงสำคัญในด้านโภชนาการและการเจริญเติบโตของลูกน้อย เนื่องจากวัย 6 เดือนนั้นถือเป็นวัยที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้เด็กได้เริ่มทำความคุ้นเคยกับอาหารผู้ใหญ่ (Solid foods) แต่ยังคงให้น้ำนมจากเต้า (Breastfeeding) หรือนมทางเลือก (Formula feeding) เป็นหลักอยู่ โดยการเริ่มให้ลูกน้อยได้ทำความรู้จักกับอาหารผู้ใหญ่นั้นควรเริ่มทีละน้อย และต้องเป็นอาหารบดละเอียด กลืนได้ง่าย เช่นกล้วยบด ฟักทองบด เป็นต้น และหากคุณแม่คุณพ่อมีภาวะแพ้อาหาร ควรปรึกษากุมารแพทย์ (Pediatrician) หรือผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการเด็ก (Child nutritionist) ก่อนให้ลูกน้อยได้ทำความคุ้นเคยกับอาหารกลุ่มที่พบอาการแพ้ได้มากอย่าง ไข่ไก่และนมวัว
ในด้านของสุขภาพนั้น เด็กวัย 6 เดือนจะต้องเข้าพบกุมารแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพทั่วไป ติดตามพัฒนาการว่าเป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่ และอาจได้รับการฉีดวัคซีนหากครบกำหนด นอกจากนี้การพบกุมารแพทย์ครั้งนี้ยังเป็นโอกาสที่ดีของคุณแม่คุณพ่อในการปรึกษาเกี่ยวกับช่วงเวลาการนอนของลูกน้อย โภชนาการที่ถูกต้อง และการดูแลฟันของลูกน้อยในกรณีที่ลูกน้อยมีสัญญาณของภาวะฟันงอก (Teething) เพราะหลังจากนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงมากมายเกิดขึ้นกับลูกน้อยและจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การที่คุณแม่คุณพ่อทราบถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น รวมถึงไขข้อสงสัย จะช่วยให้คุณแม่คุณพ่อช่วยส่งเสริมพัฒนาการให้กับลูกน้อยได้ดีขึ้น
และหากลูกน้อยแสดงพฤติกรรมที่ต่างไปจากเดิมหรือไม่แสดงพัฒนาการตามวัยก็อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติบางอย่างหรืออาจเป็นสัญญาณของภาวะเรียนรู้ช้า โดยสัญญาณเตือนเบื้องต้นมีดังนี้
- ไม่มีความพยายามในการเอื้อมมือไปหยิบสิ่งของที่อยู่ใกล้ตัว
- ไม่ตอบสนองต่อเสียงที่เกิดขึ้นรอบตัว
- ไม่พลิกตัว
- ไม่สบตาคุณแม่คุณพ่อ
- ไม่หัดออกเสียง
เคล็ดลับสำหรับคุณแม่ในการเลี้ยงลูกน้อย
Postpartum Tips
เนื่องจากในช่วงนี้ลูกน้อยสามารถที่จะเอื้อมมือหยิบจับสิ่งของที่อยู่ใกล้และห่างตัวออกไปเล็กน้อยได้แล้ว รวมไปถึงยังชื่นชอบการนำสิ่งของเข้าปาก ดังนั้นคุณแม่คุณพ่อไม่ควรลืมที่จะทำสิ่งแวดล้อมของลูกน้อยให้ปลอดภัยและสะอาดอยู่เสมอด้วยการเก็บสิ่งของอันตรายให้พ้นมือลูกน้อย และให้ลูกน้อยเรียนรู้ด้วยการนำสิ่งของที่ปลอดภัยเข้าปากแทนเช่นผ้านุ่มๆที่สะอาด ตุ๊กตาหลากหลายรูปแบบ ลูกบอลยางนิ่มๆแต่ไม่ควรเล็กจนสามารถนำเข้าปากได้ทั้งลูก นอกจากนี้คุณแม่คุณพ่อยังควรอ่านหนังสือให้ลูกน้อยฟังเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังจากนี้ควรออกเสียงให้ชัดเจนมากขึ้น และมีโทนเสียงที่หลากหลายเพื่อที่ลูกน้อยจะได้หัดออกเสียงตามไปด้วยได้
ใช้ท่วงท่าประกอบการสอนภาษาให้ลูกน้อย
แม้ลูกน้อยจะยังไม่สามารถเข้าใจคำศัพท์และยังไม่สามารถออกเสียงอะไรได้มากนัก แต่เด็กก็สามารถที่จะลอกเลียนแบบภาษากายได้แล้ว ดังนั้นการสอนให้ลูกน้อยใช้ท่าทางในการสื่อสารสิ่งต่างๆกับคุณแม่คุณพ่อจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ลูกน้อยเรียนรู้ เข้าใจคำศัพท์เกี่ยวกับการใช้ชีวิตขั้นพื้นฐานได้ดีมากขึ้น ประกอบกับสามารถสื่อสารกับคุณแม่คุณพ่อได้ด้วย