พัฒนาการของเด็ก
Baby’s Development
เมื่อเด็กเข้าสู่วัย 5 เดือน พัฒนาการที่เห็นได้ชัดในช่วงนี้คือพัฒนาการด้านการประสานงานของตาและมือ รวมไปถึงความสามารถในการควบคุมกล้ามเนื้อที่ยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีส่วนสำคัญสำหรับพัฒนาการอื่นๆในอนาคต
สำหรับพัฒนาการด้านการประสานงานของตาและมือ จากสัปดาห์ก่อนๆ เด็กต้องใช้เวลาในการจ้องมองสิ่งของและพยายามเอื้อมมือไปจับ ตอนนี้เด็กมีพัฒนาการการมองเห็นที่ชัดขึ้น เด็กสามารถที่จะมองตามสิ่งต่างๆได้ เด็กจะตั้งใจมองสิ่งที่เขาสนใจ ด้วยเหตุนี้ทำให้ในช่วงนี้เด็กสามารถที่จะเอื้อมมือหยิบจับสิ่งของที่อยู่ไกลตัวได้แล้ว ซึ่งคุณแม่คุณพ่อเองสามารถช่วยส่งเสริมพัฒนาการนี้ได้ด้วยการให้ลูกน้อยนั่งอยู่ตรงข้ามคุณแม่คุณพ่อ ถือของเล่นที่ลูกน้อยชื่นชอบและสังเกตว่าลูกน้อยจ้องมองของเล่นอยู่หรือไม่ หากลูกน้อยให้ความสนใจ คุณแม่คุณพ่อควรให้กำลังใจเมื่อลูกน้อยพยายามเอื้อมมือคว้าของเล่น โดยพัฒนาการนี้จะช่วยให้เด็กสามารถหยิบจับอาหารได้เองเมื่อเด็กเริ่มทานอาหาร (Solids) ในอนาคต
นอกจากนี้พัฒนาการด้านการควบคุมกล้ามเนื้อยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการหันศีรษะ เงยศีรษะได้ดีขึ้น กล้ามเนื้อคอไม่อ่อนแรงเหมือนสัปดาห์ก่อนๆ นอกจากนี้เด็กยังสามารถพลิกตัวไปด้านข้างได้ดีแล้ว แม้จะเป็นพัฒนาการที่ดีแต่คุณแม่คุณพ่อควรเฝ้าระวังเมื่อเด็กอยู่ที่บนที่สูงอย่างเช่น เตียง โซฟา หรือบนจุดเปลี่ยนผ้าอ้อม เด็กอาจพลิกตัวและพลั้งตกลงมาบาดเจ็บได้ อย่างไรก็ตาม หากลูกน้อยไม่สามารถพลิกตัวได้เมื่ออายุ 7 เดือน คุณแม่คุณพ่อควรปรึกษากุมารแพทย์ (Pediatrician) เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของภาวะมีพัฒนาการการเคลื่อนไหวช้า
การเจริญเติบโตของเด็ก
Baby’s Growth
ในด้านของการเจริญเติบโตจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักจากสัปดาห์ก่อน อย่างไรก็ตามคุณแม่คุณพ่อควรจดบันทึกน้ำหนักของลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้แน่ใจว่าลูกน้อยมีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นทีละน้อยแต่สม่ำเสมอ
สัปดาห์นี้น้ำหนักของลูกน้อยอาจเท่าสัปดาห์ที่ผ่านมาหรือเพิ่มขึ้นมาเพียงเล็กน้อย ในด้านของความยาวร่างกายนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 23 นิ้ว ถึง 24 นิ้ว หรือประมาณ 58 เซนติเมตร ถึง 61 เซนติเมตร
นอกจากนี้ในด้านการให้นม เมื่อเด็กมีอายุ 5 เดือน เด็กหลายคนจะมีอาการติดเต้า (Cluster feeding) ซึ่งเป็นอาการที่เด็กมีความอยากนมมากกว่าปกติ ต้องการการให้นมถี่ขึ้น โดยส่วนมากอาการติดเต้านี้จะเกิดขึ้นช่วงบ่ายแก่ๆ ถึงช่วงกลางคืน ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เด็กต้องการการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ แต่หากลูกน้อยมีอาการติดเต้าและร้องไห้บ่อยครั้งตอนกลางคืน คุณแม่คุณพ่อควรปรึกษากุมารแพทย์เพื่อหาทางแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนวิธีการให้นมของคุณแม่
สุขภาพของเด็ก
Toddler’s Health
แม้ในช่วงนี้เด็กอาจไม่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคประจำตัว แต่คุณแม่คุณพ่อก็ควรเฝ้าระวังสัญญาณต่างๆหรือพฤติกรรมของลูกน้อยที่ต่างไปจากเดิม และไม่ควรละเลยสิ่งเล็กๆน้อยๆที่เกิดขึ้น
หากลูกน้อยมีอาการไอ คุณแม่คุณพ่อควรเฝ้าสังเกตอย่างใกล้ชิดว่าการไอนั้นเป็นเพียงการไอจากอาการคัดจมูก หรือเป็นอาการไอจากการเป็นหวัด แม้การไอจะดูเป็นอาการที่ไม่เป็นอันตราย แต่จริงๆแล้วการไอสามารถทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนอ่อนล้าได้ ซึ่งสามารถนำไปสู่ภาวะอันตรายอื่นๆ หรือเป็นสัญญาณของปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจ
นอกจากนี้ การที่คุณแม่และคุณพ่อจดจำแบบแผนช่วงเวลาการใช้ชีวิตและลักษณะนิสัยของลูกน้อยได้ถือเป็นสิ่งสำคัญ หากลูกน้อยไม่อยากนม นอนผิดเวลา หรือไม่มีความสุขกับช่วงเวลาการเล่นเหมือนเคย นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าเด็กมีปัญหาสุขภาพ และคุณแม่คุณพ่อควรเข้าพบกุมารแพทย์
เคล็ดลับและเกร็ดความรู้สำหรับคุณแม่หลังคลอด
Postpartum Tips and Information
ในช่วงนี้เด็กก็เปรียบได้กับฟองน้ำที่พร้อมรับและเรียนรู้สิ่งต่างๆรอบตัว ไม่ว่าจะเกิดเสียงอะไร คุณแม่คุณพ่อจะทำอะไร เด็กก็จะให้ความสนใจและมีสมาธิ สามารถจดจ่อกับกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งได้มากขึ้น ดังนั้นการใช้เวลาในการช่วยพัฒนาทักษะและเสริมสร้างพัฒนาการต่างๆ แม้จะเป็นเวลาเพียงไม่กี่นาทีต่อหนึ่งวัน ก็ถือว่ามีความสำคัญ
ปล่อยให้เด็กได้ยินเสียงต่างๆ
คุณแม่และคุณพ่อหลายคนมักมีความกลัวว่าเด็กจะอ่อนไหวต่อเสียงที่ดังหรือแปลกเช่น เสียงเครื่องดูดฝุ่น เสียงนาฬิกาปลุก เป็นต้น แต่จริงๆแล้วการที่ปล่อยให้ลูกน้อยได้ยินเสียงที่ต่างกันไปเหล่านี้จะช่วยให้เด็กเรียนรู้และปะติดปะต่อเสียงเข้ากับสิ่งของและกิจกรรมต่างๆ ไม่นานเด็กก็จะคุ้นเคยกับเสียงเหล่านั้นได้ด้วยตัวเอง ถือเป็นการลดความกลัวของเด็กลง
หาของเล่นที่มีเสียงหรือเขย่าได้ให้ลูกน้อยเล่น
ของเล่นที่เขย่าแล้วมีเสียงจะช่วยดึงความสนใจของลูกน้อยได้ดี เมื่อเด็กสามารถหยิบจับของได้คล่องแล้ว การเขย่าของเล่นจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือ ทำให้เด็กสามารถจับสิ่งของได้แน่นขึ้นในอนาคต นอกจากนี้การใช้ของเล่นที่มีเสียงดึงความสนใจของเด็กยังสามารถฝึกทักษะการหันศีรษะตามเสียง ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการด้านการได้ยินที่สอดคล้องกับการใช้กล้ามเนื้อคอ