เมื่อเด็กเข้าสู่วัย 4 เดือน ในช่วงนี้เด็กจะมีพัฒนาการเกี่ยวกับการสื่อสารด้วยการพูด และพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวร่างกายไม่ว่าจะเป็นศีรษะ แขน ขา และการหยิบจับสิ่งของ ในด้านของการเจริญเติบโต เด็กควรมีน้ำหนักมากขึ้นอย่างช้าๆแต่ต่อเนื่อง และยังคงต้องดื่มนมแม่ ส่วนด้านสุขภาพเด็กในวัยนี้จะเริ่มมีอาการฟันงอก ซึ่งสามารถบรรเทาได้และถือเป็นสัญญาณของพัฒนาการด้านการเจริญเติบโตที่ดี นอกจากนี้เด็กหลายคนจะแสดงออกมากขึ้นและสนใจการเล่นกับคุณแม่คุณพ่อมากขึ้น ดังนั้นการหาเวลาช่วยเสริมสร้างพัฒนาการจึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย
พัฒนาการของเด็ก
Baby’s Development
ลูกน้อยจะมีพัฒนาการที่ก้าวกระโดดในด้านของการสื่อสารและการเข้าสังคมซึ่งคุณแม่คุณพ่อสามารถช่วยส่งเสริมพัฒนาการนี้ได้ รวมไปถึงมีพัฒนาการด้านการควบคุมกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นในหลายส่วนของร่างกาย
พัฒนาการที่สำคัญอย่างมากในเด็กวัยนี้คือการสื่อสารและการเข้าสังคม จากที่สัปดาห์ก่อนๆเด็กสามารถตอบโต้ได้ผ่านการแสดงสีหน้า ไปจนถึงการออกเสียงที่ไม่มีความหมาย เมื่อย่างเข้าสู่วัย 4 เดือน เด็กจะพยายามพูดมากขึ้น โดยมีการพยายามออกเสียงคำที่เคยได้ยิน และพยายามโต้ตอบการสนทนากับคุณแม่คุณพ่อ นอกจากนี้ในบางครั้งคุณแม่คุณพ่อจะสังเกตได้ว่าเด็กจะตั้งใจฟังเมื่อคุณแม่คุณพ่อกำลังพูด และมีความพยายามชวนคุณแม่คุณพ่อให้พูดคุยด้วยบ่อยขึ้น ดังนั้นคุณแม่คุณพ่อสามารถช่วยส่งเสริมพัฒนาการนี้ได้ด้วยการพูดกับเขาให้บ่อยขึ้น เพื่อเสริมสร้างความจำเกี่ยวกับการออกเสียงให้กับเด็กตั้งแต่วัยเยาว์ รวมไปถึงเปิดโอกาสให้เด็กได้ออกเสียง และให้กำลังใจเมื่อเด็กพยายามพูด พยายามออกเสียงต่างๆ ด้วยการยิ้ม การชม และปรบมือ
ในส่วนของพัฒนาการด้านการควบคุมกล้ามเนื้อของเด็กก็เกิดขึ้นที่หลายส่วน ส่วนแรกคือกล้ามเนื้อบริเวณคอที่แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเด็กในวัย 4 เดือน ควรจะเงยศีรษะขึ้นได้บ้างเมื่อนอนคว่ำอยู่กับพื้นราบ และหันศีรษะได้บ้างเมื่อได้ยินเสียงที่เขาสนใจ รวมไปถึงสามารถประคองสมดุลของศีรษะได้เมื่อถูกจับให้นั่งตัวตรง หากลูกน้อยของคุณแม่คุณพ่อยังไม่แสดงถึงพัฒนาการเหล่านี้ ควรปรึกษากุมารแพทย์ (Pediatrician) เนื่องจากกล้ามเนื้อบริเวณคอมีส่วนสำคัญในการเคลื่อนไหวของร่างกายในอนาคต ส่วนต่อมาคือกล้ามเนื้อแขนและขาที่มีความแข็งแรงมากขึ้นเช่นกัน โดยคุณแม่คุณพ่อจะเริ่มสังเกตเห็นว่าเด็กจะมีการเตะขาบ่อยครั้งขึ้น มีการยืดแขนเพื่อเอื้อมไปหยิบจับสิ่งของที่อยู่ไกลตัว และสามารถจับสิ่งของได้แน่นขึ้น ดังนั้นหากคุณแม่คุณพ่อยื่นของเล่นที่เขย่าแล้วมีเสียงให้กับลูกน้อย เด็กในวัยนี้ก็สามารถที่จะจับของเล่นและเขย่าเล่นได้แล้ว
นอกจากนี้ จากสัปดาห์ก่อนๆที่มีการฝึกให้เด็กนอนคว่ำกับพื้นราบแล้วเงยศีรษะขึ้นเป็นระยะๆ ในเดือนนี้เด็กบางคนจะเริ่มหาสมดุลและพลิกตัวได้ด้วยตัวเองแล้ว แน่นอนว่าคุณแม่และคุณพ่อก็สามารถช่วยส่งเสริมพัฒนาการนี้ได้ด้วยการจัดพื้นที่ในการเล่นสำหรับลูกน้อย วางของเล่นที่มีสีสันสดใสและดึงดูดสายตาได้ดี พยายามใช้ของเล่นหรือสิ่งของที่ลูกน้อยสนใจหลอกล่อให้เขาพยายามพลิกตัวไปหาของเล่น และให้กำลังใจเมื่อลูกน้อยมีการหันศีรษะ เงยศีรษะ และพลิกตัว
การเจริญเติบโตของเด็ก
Baby’s Growth
เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 4 เด็กจะมีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ มีแบบแผนการนอนและการให้นม (Feeding) ที่ค่อนข้างแน่นอน ทำให้คุณแม่คุณพ่อสามารถจัดสรรเวลาในการทำงานและการพักผ่อนได้แล้ว
ขณะเดียวกันเมื่อเด็กย่างเข้าสู่วัย 4 เดือน คุณแม่และคุณพ่ออาจต้องเผชิญกับคำแนะนำในการให้เด็กเริ่มทานอาหารบดหรืออาหารชิ้นเล็กๆ (Solids) ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกหรือ WHO แนะนำให้เด็กรับนมแม่อย่างเดียวเป็นเวลานานอย่างน้อย 6 เดือน และเริ่มให้เด็กทานอาหารในปริมาณน้อยควบคู่กับการให้นมแม่เป็นหลักอย่างน้อย 1 ปี ทั้งนี้คุณแม่คุณพ่อควรปรึกษากุมารแพทย์ก่อนเริ่มให้เด็กทำความคุ้นเคยกับอาหาร
สุขภาพของเด็ก
Baby’s Health
ช่วงนี้เด็กหลายคนจะมีอาการฟันงอก (Teething) ซึ่งคุณแม่คุณพ่อต้องหมั่นสังเกตอาการของลูกน้อยและดูแลอย่างใกล้ชิด
สำหรับเด็กที่เริ่มมีอาการฟันงอกนั้นจะมีสัญญาณให้คุณแม่คุณพ่อทราบได้ดังนี้
- มีแก้มสีแดงก่ำ
- น้ำลายไหลมากกว่าปกติ คุณแม่คุณพ่อควรเช็ดทำความสะอาดบริเวณที่มีน้ำลายเปื้อนอย่างสม่ำเสมอ
- ลูกน้อยมีการอม การเคี้ยว มือของตัวเองและของเล่น คุณแม่คุณพ่อควรเฝ้าสังเกตและระวังการเคี้ยวสิ่งของที่เป็นอันตราย คุณแม่คุณพ่อควรหาซื้อของเล่นที่มีความนุ่ม ปลอดภัยสำหรับการนำเข้าปากลูกน้อย
- ลูกน้อยมีอาการปวดเหงือกและร้องไห้มากกว่าปกติ
เมื่อเด็กเริ่มแสดงอาการต่างๆเหล่านี้ คุณแม่และคุณพ่อสามารถช่วยบรรเทาอาการฟันงอกของลูกน้อยได้ดังนี้
- หาของเล่นมาให้ลูกน้อยได้เคี้ยว ซึ่งส่วนใหญ่ของเล่นปลอดภัยต่อการนำเข้าปาก และปลอดภัยสำหรับการเคี้ยวสำหรับเด็กที่มีอาการฟันงอกจะทำมาจากยาง
- นวดบริเวณเหงือกของลูกน้อยด้วยเจลสำหรับเด็กที่มีอาการฟันงอกโดยเฉพาะ
- ให้ลูกน้อยดื่มน้ำเย็น
- คุณแม่คุณพ่อสามารถแช่ของเล่นที่ทำจากยางสำหรับให้เด็กเคี้ยว (Teething ring) ในช่องแช่เย็น ก่อนนำมาให้เด็กเคี้ยวเพื่อบรรเทาอาการปวดเหงือกได้ แต่ไม่ควรนำเข้าช่องแช่แข็งเนื่องจากอุณหภูมิที่เย็นเกินไปสามารถทำร้ายช่องปากของลูกน้อยได้
หากลูกน้อยมีอาการปวดเหงือกและร้องไห้มากกว่าปกติ คุณแม่คุณพ่อควรเข้าพบกุมารแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาและหาทางบรรเทาอาการลูกน้อย โดยแพทย์อาจจ่ายยาแก้ปวดสำหรับเด็กเล็กเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดและทำให้เด็กหลับสบายขึ้นตอนกลางคืน
เคล็ดลับและเกร็ดความรู้สำหรับคุณแม่
Postpartum Tips and Information
ในช่วงนี้กิจกรรมการเล่นและการพูดคุยกับลูกน้อยถือเป็นสิ่งสำคัญและเป็นสิ่งที่คุณแม่คุณพ่อไม่ควรละเลย แม้แต่การเล่นจ๊ะเอ๋กับลูกน้อยก็สามารถช่วยเสริมสร้างพัฒนาการได้ และเด็กบางคนอาจเริ่มแสดงพฤติกรรมชอบและไม่ชอบอะไรบางอย่างแล้ว คุณแม่คุณพ่อควรสังเกตว่าลูกน้อยไม่ชอบอะไรบ้างและพยายามสร้างประสบการณ์ที่ดีต่อสิ่งนั้นๆ
เล่นจ๊ะเอ๋กับลูกน้อย
แม้การเล่นจ๊ะเอ๋จะดูเป็นการละเล่นที่ธรรมดาและคุณแม่คุณพ่อหลายคนละเลยไม่ให้ความสนใจ แต่จริงๆแล้วการเล่นจ๊ะเอ๋จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางสมอง ลูกน้อยจะเริ่มเรียนรู้และเข้าใจว่าสิ่งของจะยังคงอยู่แม้จะมองไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้สัมผัส ซึ่งเรียกพัฒนาการนี้ว่า การรับรู้การคงอยู่ของวัตถุ ซึ่งจะมีผลต่อพัฒนาการอื่นๆในอนาคต นอกจากนี้การเล่นจ๊ะเอ๋ยังช่วยทดสอบความจำของลูกน้อย เด็กเรียนรู้ที่จะคาดเดาว่าข้างหลังมือทั้งสองข้างคือใบหน้าของคุณแม่คุณพ่อนั่นเอง