IN THIS SECTION
- พัฒนาการของเด็กวัย 7 สัปดาห์ในภาพรวม
- การเจริญเติบโตและสุขภาพของเด็กวัย 7 สัปดาห์
- เคล็ดลับสำหรับคุณแม่ในการเลี้ยงลูกน้อยวัย 7 สัปดาห์
อีกเพียง 1 สัปดาห์ ลูกน้อยของคุณแม่คุณพ่อก็จะมีอายุครบ 2 เดือนแล้ว ซึ่งเด็กอ่อน (Infant) วัย 7 สัปดาห์จะมีลักษณะภายนอกต่างจากเมื่อแรกเกิด (Newborn) พอสมควรแล้ว เนื่องจากมีการยืดของแขนและขามากขึ้น และไม่ค่อยอยู่ในท่านอนขด (Fetal position) เหมือนสัปดาห์แรกๆ นอกจากนี้พัฒนาการสำคัญสำหรับสัปดาห์นี้คือพัฒนาการด้านการควบคุมกล้ามเนื้อ (Physical development) ที่ไม่ได้มีการพัฒนาการเพียงแค่กล้ามเนื้อบริเวณคอ แต่ยังมีการพัฒนาที่มือ และเด็กยังเริ่มเกิดพัฒนาการด้านการประสานงานของร่างกายอีกด้วย (Coordination development) รวมไปถึงพัฒนาการการมองเห็นของเด็ก (Vision development) ยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และขณะนี้เด็กบางคนยังเริ่มมีพัฒนาการทางด้านสติปัญญา (Cognitive development) แล้วอีกด้วย
พัฒนาการของเด็ก
Baby’s Development
พัฒนาการที่สำคัญของเด็กอ่อนยังคงเป็นพัฒนาการด้านการควบคุมกล้ามเนื้อ โดยนอกจากที่เด็กจะสามารถยกศีรษะขึ้นได้ในเวลาอันสั้น เงยศีรษะขึ้นได้ในเวลาอันสั้น และหันศีรษะไปทางด้านข้างได้แล้วนั้น ตอนนี้เด็กจะเริ่มมีการใช้มือในการตีสิ่งต่างๆที่อยู่ใกล้ตัวเขา ซึ่งการที่ตีในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการออกแรงตีเพื่อให้เจ็บหรือเพื่อให้เกิดเสียงดัง แต่เป็นเพียงการยกมือขึ้นในระดับต่ำแล้วตบลงบนพื้นผิวนั่นเอง โดยหากมีของเล่นอยู่ในระยะสายตาของเด็ก เขาอาจยกมือขึ้นตีมัน โดยการตีก็ถือเป็นหนึ่งในการเรียนรู้ผ่านการสัมผัสเช่นกัน ดังนั้นในช่วงนี้ของเล่นที่มีลักษณะแขวนอย่างโมบายล์ ถือว่าเป็นของเล่นที่เหมาะสมในการช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กวัย 7 สัปดาห์ ซึ่งของเล่นแบบแขวนจะช่วยให้ลูกน้อยได้ฝึกฝนกล้ามเนื้อแขนในการยืดเพื่อคว้าของเล่นที่อยู่เหนือศีรษะ การยืนแขนและใช้มือพยายามคว้าจับของเล่นแขวนนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับพัฒนาการอื่นๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างการประสานงานระหว่างตากับมือ (Hand eye coordination)
นอกจากนี้เด็กยังมีพัฒนาการด้านการมองเห็นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงนี้ดวงตาของลูกน้อยสามารถที่จะขยับไปทางด้านข้างได้อย่างเต็มที่แล้ว ดังนั้นเมื่อคุณแม่คุณพ่อถือของเล่นแล้วลากผ่านหน้าของลูกน้อยอย่างช้าๆ จะสามารถเห็นได้ว่าลูกน้อยมีการจ้องมองไปที่ของเล่นแล้วขยับลูกตามองตามได้โดยไม่ละสายตา การเรียกร้องความสนใจของลูกน้อยให้เขามองตามของเล่นไปเรื่อยๆถือเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่จะช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการด้านการมองเห็นที่ดีขึ้น และเด็กส่วนมากก็ชื่นชอบกิจกรรมง่ายๆแบบนี้เช่นกัน
พัฒนาการที่น่าสนใจอีกพัฒนาการหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ในสัปดาห์นี้คือพัฒนาการด้านสติปัญญา โดยเด็กเริ่มที่จะจำเสียงของสมาชิกภายในครอบครัวได้ดีขึ้นแล้ว แล้วจะรู้สึกสบายใจ รู้สึกสงบลงเมื่อได้ยินเสียงพูดที่มีน้ำเสียงอ่อนโยนของคนที่เด็กมีความคุ้นเคยด้วย นอกจากนี้เด็กยังมีการจ้องมองใบหน้าด้วยความตั้งใจ เป็นการเรียนรู้และเป็นจุดเริ่มต้นของการจดจำใบหน้าของสมาชิกในครอบครัว
การเจริญเติบโตของเด็ก
Baby’s Growth
ในช่วงสัปดาห์ที่ 7 นี้ เด็กควรมีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมาประมาณ 0.3 ปอนด์ ถึง 0.4 ปอนด์ หรือ 140 กรัม ถึง 200 กรัม ต่อสัปดาห์ เด็กไม่ควรที่จะมีน้ำหนักที่ลดลงเมื่อมีอายุย่างเข้า 2 เดือน หากลูกน้อยของคุณแม่คุณพ่อมีน้ำหนักที่ลดลงอย่างผิดปกติขอให้เข้าพบกุมารแพทย์ (Pediatrician)
ในด้านโภชนาการ หากการให้นมลูกน้อยแบบเข้าเต้า (Breast feeding) เป็นไปด้วยดีและคุณแม่มีความถนัด คล่องแคล่วมากขึ้นแล้ว ขณะนี้ลูกน้อยก็ควรที่จะมีความคล่องแคล่วในการดูดนมจากเต้าแล้วเช่นกัน ซึ่งทำให้ระยะเวลาในการให้นมในหนึ่งครั้งนั้นสั้นลงและเด็กอิ่มท้องเร็วขึ้น นอกจากนี้เด็กยังมีโอกาสที่หลับขณะการให้นมน้อยลง แต่ก็ยังคงเกิดขึ้นได้บ้าง ซึ่งคุณแม่ไม่ควรปลุกลูกน้อยให้ตื่น หากคุณแม่ต้องการวางลูกน้อยลงบนเตียงก็สามารถทำได้ แต่หากลูกน้อยตื่นขณะที่คุณแม่กำลังเตรียมให้ลูกน้อยเข้านอนก็ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ
สำหรับคุณแม่ที่ให้น้ำนมทดแทน (Formula feeding) กับลูกน้อยผ่านขวดนม อาจมีความลำบากใจว่าลูกน้อยจะมีรู้สึกสัมพันธ์ ใกล้ชิดกับคุณแม่เท่ากับคุณแม่ที่ให้นมลูกแบบเข้าเต้าหรือไม่ แม้การให้นมลูกแบบเข้าเต้าจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ที่ดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณแม่ที่ให้นมลูกน้อยผ่านขวดนมจะไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับลูกน้อยได้ เด็กในวัยนี้ชื่นชอบการถูกสัมผัสแบบแนบเนื้อ ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีความเครียดที่น้อยลง ดังนั้นการกอดลูกน้อยเป็นประจำ การนวดลูกน้อย (Baby massage) และการใช้เป้อุ้มเด็ก (Baby wearing) ก็จะช่วยให้ลูกน้อยเจริญเติบโตได้โดยมีความรู้สึกใกล้ชิดกับคุณแม่ได้เหมือนกัน
ในด้านช่วงเวลาการนอน (Sleep pattern) สัปดาห์ที่ 7 นี้เป็นหนึ่งในสัปดาห์ที่เด็กอาจเกิดภาวะสัปดาห์เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว (Growth spurt) หรือ วันเดอร์วีค (Wonder week) และสัปดาห์นี้ก็ยังอยู่ในช่วงเวลาที่เด็กจะมีโอกาสในการร้องไห้ที่บ่อยครั้งและยาวนานขึ้นอีกด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุให้เด็กดูมีการตื่นตัวและนอนหลับได้ยากในช่วงนี้ ดังนั้นหากคุณแม่คุณพ่อประสบปัญหาการกล่อมให้ลูกน้อยนอนหลับในตอนกลางคืน และมีความคิดริเริ่มที่จะฝึกให้ลูกน้อยนอนหลับให้เป็นเวลา (Sleep training) ขอให้คุณแม่คุณพ่อปรึกษากุมารแพทย์เสียก่อน เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ (Sleep experts) แนะนำว่าการฝึกให้ลูกน้อยนอนหลับเป็นเวลา ไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ตาม ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน
สุขภาพของเด็ก
Baby’s Health
หากลูกน้อยของคุณแม่คุณพ่อยังไม่ได้เข้าพบแพทย์ในสัปดาห์ที่ 6 สัปดาห์นี้คุณแม่คุณพ่อควรพาลูกน้อยเข้าพบแพทย์ได้แล้ว เนื่องจากการพบแพทย์ในช่วงนี้นอกจากจะเป็นการตรวจสุขภาพทั่วไปและติดตามพัฒนาการแล้ว ยังเป็นช่วงของการแนะนำเกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกัน (Immunization) การฉีดวัคซีน (Vaccination) ให้ลูกน้อย รวมไปถึงมีการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นแบบเข็ม 2 ตัว และแบบน้ำที่ต้องกลืน 1 ตัว
สำหรับสัญญาณของการเกิดปัญหาสุขภาพในเด็กวัย 7 สัปดาห์มีดังนี้
- ลูกน้อยไม่ขยับลูกตามองตามสิ่งของ ลูกน้อยไม่รับรู้ถึงสิ่งของที่อยู่ตรงหน้า
- ลูกน้อยร้องไห้อย่างไม่มีสาเหตุและไม่สามารถปลอบประโลมได้
- ลูกน้อยไม่ถ่ายเบาในระยะเวลาหลายชั่วโมง
- ลูกน้อยดูอ่อนแรง เหนื่อยล้า งัวเงีย ไม่ตื่นตัว ไม่ให้ความสนใจสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นรอบตัว
เคล็ดลับและเกร็ดความรู้สำหรับคุณแม่หลังคลอด
Postpartum Tips and Information
อีกไม่นานลูกน้อยของคุณแม่คุณพ่อก็จะมีอายุครบ 2 เดือน ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่เด็กจะมีอัตราการเจริญเติบโตและมีพัฒนาการเร็วกว่าช่วงที่ผ่านมาเสียอีก ดังนั้นในช่วงนี้สิ่งที่คุณแม่คุณพ่อควรให้ความสนใจคือการหากิจกรรมทำกับลูกน้อยเพื่อส่งเสริมพัฒนาการในด้านต่างๆ เป็นการเตรียมพร้อมให้ลูกน้อยได้มีพัฒนาการที่สมวัยและแข็งแรงขึ้น โดยกิจกรรมที่ควรทำเป็นประจำคือ พูดคุยกับลูกน้อย เลียนแบบเสียงร้องอ้อแอ้ของลูกน้อย และอ่านหนังสือให้ลูกน้อยฟัง แต่กิจกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสาร (Language and communication development) คุณแม่คุณพ่อควรทำกิจกรรมเหล่านี้ควบคู่ไปด้วยเพื่อส่งเสริมพัฒนาการในหลากหลายด้าน
- จับมือของลูกน้อยให้ปรบมือ เนื่องจากลูกน้อยสามารถที่จะยืดแขนได้แล้ว การที่คุณแม่คุณพ่อจับมือของลูกน้อยอย่างเบามือแล้วค่อยๆยืดขึ้นมาบริเวณกลางอก ให้มือประกบกันคล้ายการปรบมือ จะช่วยให้กล้ามเนื้อของลูกน้อยแข็งแรงขึ้น
- จับขาของลูกน้อยอย่างเบามือให้ขยับวนเป็นวงกลม คล้ายกับว่ากำลังปั่นจักรยาน การทำแบบนี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อขาของลูกน้อยแข็งแรงขึ้นเช่นกัน
- ใช้ของเล่นชิ้นโปรดในการเรียกความสนใจจากลูกน้อยให้มองตาม สั่นของเล่นเขย่า (Rattle toys) เพื่อให้ลูกน้อยหันไปหาเสียง เป็นการช่วยฝึกทักษะการมองเห็น การหันศีรษะ และการฟังของลูกน้อย
- แสดงสีหน้าที่หลากหลายให้ลูกน้อยดู คุณแม่คุณพ่ออาจรู้สึกเคอะเขินและตลกไปบ้าง แต่การทำสีหน้าที่หลากหลายให้ลูกน้อยเห็นบ่อยๆจะทำให้เขาเรียนรู้และลอกเลียนแบบการแสดงออกทางสีหน้าเหล่านี้