เมื่อเด็กมีอายุได้ 13 เดือน หรือ 1 ปี 1 เดือน เด็กจะเป็นนักเลียนแบบและนักสังเกตการณ์ประจำบ้านของคุณแม่คุณพ่อ นอกจากนี้เด็กยังเริ่มที่จะมีความคิดเป็นของตัวเอง มีการแสดงอารมณ์ที่หลากหลายขึ้น และพยายามที่จะพูดเพื่อที่จะสื่อสารกับคุณแม่คุณพ่อมากขึ้น มากไปกว่านั้น เด็กในวัยนี้ยังมีทักษะในการเคลื่อนไหวร่างกายที่ดีมากขึ้น สามารถควบคุมกล้ามเนื้อมัดเล็กได้ดีจนสามารถดื่มน้ำจากแก้วน้ำได้แล้ว สามารถนั่งตัวตรงได้แล้ว เด็กบางคนอาจเริ่มลุกขึ้นยืนได้ด้วยตัวเอง และฝึกเดินได้ด้วยความช่วยเหลือจากคุณแม่คุณพ่อเมื่อมีอายุได้ราว 1 ปี
พัฒนาการของเด็กในภาพรวม
(Toddler’s developmental milestone)
เด็กในวัยนี้ถือได้ว่าเป็นนักเลียนแบบและนักสังเกตการณ์ที่เก่ง พร้อมที่จะทำตามสิ่งที่คุณแม่และคุณพ่อทำ พร้อมๆกับการเรียนรู้ด้านภาษา ไม่ว่าคุณแม่คุณพ่อจะพูดอะไร เด็กจะเริ่มรู้ว่าคำที่เคยได้ยินบ่อยครั้งนั้นมีความหมายว่าอะไร และเมื่อกล่าวถึงในด้านการควบคุมกล้ามเนื้อของลูกน้อย ช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงที่น่าสนใจมากทีเดียว เด็กจะสามารถดื่มน้ำจากแก้วได้ เก็บของเล่นใส่กล่องได้ และการเคลื่อนไหวอื่นๆที่จะค่อยๆทำให้เด็กสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้นภายใต้การดูแลของคุณแม่คุณพ่อ
เด็กเปรียบเสมือนนักเลียนแบบประจำบ้าน
เด็กในวัย 13 เดือนมักเรียนรู้จากการสังเกตการณ์เป็นส่วนมาก ไม่เพียงแต่ในด้านพฤติกรรมแต่ยังรวมไปถึงด้านการสื่อสาร การใช้ภาษา คำศัพท์ และน้ำเสียง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นรอบตัวเขา เด็กจะเริ่มเรียนรู้ จดจำ และทำตาม โดยเฉพาะพฤติกรรมของคุณแม่คุณพ่อที่ทำให้เด็กเห็นเป็นประจำ ดังนั้นสิ่งที่เด็กหลายคนมักทำในช่วงนี้คือการแสดงออกผ่านท่าทาง ซึ่งอาจได้แก่ ปรบมือเมื่อมีความสุข เมื่อต้องการให้กำลังใจหรือเมื่อมีคนปรบมือ ส่งจูบให้คุณแม่คุณพ่อ โบกมือเมื่อมีคนโบกมือให้ เป็นต้น ถือได้ว่าในช่วงนี้พฤติกรรมและคำศัพท์ที่อยู่รอบตัวลูกน้อยจะเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดคลังคำศัพท์ของลูกน้อย รวมไปถึงการเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการให้ความสนใจกับการเรียนรู้ ดังนั้นคุณแม่คุณพ่อควรเริ่มระมัดระวังการใช้คำพูด รวมไปถึงการกระทำที่สามารถส่งผลเสียต่อพัฒนาการของลูกน้อย
เด็กรู้ความหมายของคำศัพท์มากขึ้น
ถือว่าเป็นก้าวสำคัญในด้านของการสื่อสารระหว่างคุณแม่คุณพ่อและลูกน้อย เมื่อย่างเข้าสู่วัย 13 เดือน ลูกน้อยสามารถที่จะเข้าใจคำศัพท์ได้มากกว่าแค่ชื่อของตนเองและคำว่าพ่อ แม่ ด้วยการเรียนรู้จากการสังเกตและจดจำ จะทำให้เด็กเริ่มทำการเชื่อมโยงคำศัพท์ที่ได้ยินบ่อยครั้งเข้ากับสิ่งของ การกระทำ อารมณ์และการแสดงออก เช่น ลูกน้อยสามารถบอกได้ว่าแขนคือส่วนไหนของร่างกาย เมื่อบอกให้เด็กหยิบตุ๊กตาหมีจากกล่องของเล่น เด็กก็สามารถหยิบตุ๊กตาหมีออกมาได้ตามที่คุณแม่คุณพ่อขอ เป็นต้น นอกจากนี้เด็กยังเข้าใจว่าคำว่าใช่ หมายความว่าอะไร และ ไม่ หมายความว่าอะไร พัฒนาการนี้จึงมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ภายในครอบครัวด้วยการสื่อสาร คุณแม่คุณพ่อควรเปิดโอกาสให้ลูกน้อยได้พูด ขณะเดียวกันก็ควรโต้ตอบกับลูกน้อยด้วยทัศคติเชิงบวกเพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านสุขภาพจิตและอารมณ์เชิงบวกไปพร้อมๆกัน
อย่างไรก็ตาม หากลูกน้อยไม่สามารถที่จะแสดงออกได้ถึงพัฒนาการดังกล่าว เช่น ไม่ทราบว่าแขนคือส่วนไหนของร่างกาย ไม่ทราบว่าตุ๊กตาหมีคืออะไร ทั้งๆที่เป็นคำศัพท์ที่ได้ยินบ่อยครั้ง อาจเป็นสัญญาณว่าลูกน้อยมีภาวะเรียนรู้ช้า คุณแม่คุณพ่อควรเข้าพบกุมารแพทย์ (Pediatrician) เพื่อพาลูกน้อยเข้ารับการวินิจฉัย
เด็กมีการควบคุมกล้ามเนื้อมัดเล็กที่ดีขึ้น
ในช่วงนี้คุณแม่คุณพ่ออาจต้องเผชิญหน้ากับลูกน้อยที่สามารถเคลื่อนไหวได้มากขึ้นและพร้อมที่จะสำรวจสิ่งใหม่รอบตัว เนื่องจากเด็กสามารถที่จะควบคุมกล้ามเนื้อมัดเล็กได้ดีขึ้น แม้จะยังมีความซุ่มซ่ามอยู่ไม่น้อย แต่เด็กก็สามารถที่จะนั่งตัวตรงได้ด้วยตัวเอง สามารถที่จะยืนได้ด้วยตัวเอง สามารถเก็บสิ่งของต่างๆใส่กล่อง และเด็กบางคนอาจสามารถเดินได้ด้วยตัวเองแม้เพียงไม่กี่ก้าวก็ตาม ดังนั้นช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่เหมาะสมในการฝึกทักษะการเดินของลูกน้อย ไม่ว่าจะช่วยประคอง หรือปล่อยให้ลูกน้อยฝึกเดินด้วยตัวเองภายใต้การดูแลของผู้ปกครอง นอกจากนี้เด็กยังสามารถดื่มน้ำจากแก้วได้แล้ว ซึ่งทักษะต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นพื้นฐานของการพึ่งพาตนเองในอนาคตในยามที่ต้องห่างกับคุณแม่คุณพ่อมากขึ้น ด้วยความที่เด็กเริ่มเรียนรู้แล้วว่าตนเองมีความสามารถในการเคลื่อนไหวมากกว่าเดิม เด็กจึงเริ่มที่จะให้กับความสนใจกับการสำรวจสิ่งใหม่ๆต่างรอบตัว ช่วงนี้คุณแม่คุณพ่อจึงควรทำให้สภาพแวดล้อมรอบตัวลูกน้อยปลอดภัย นำสิ่งของอันตรายเก็บให้พ้นมือลูกน้อย และไม่ปล่อยลูกน้อยไว้คนเดียวขณะที่เขายังมีความสนใจในการสำรวจสิ่งต่างๆอยู่
พัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสาร
(Toddler’s language and communication development)
ในวัยนี้เด็กส่วนมากจะพูดคำที่มีความหมายได้แล้ว แม้จะมีเพียงไม่กี่คำแต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นให้คุณแม่คุณพ่อได้ทราบว่าลูกน้อยมีพัฒนาการไปถึงจุดไหนแล้ว นอกจากนี้เด็กยังสามารถที่จะเข้าใจคำสั่งง่ายๆ เข้าใจว่าคุณแม่คุณพ่อต้องการอะไร เข้าใจว่าตัวเองต้องการอะไรและจะพยายามสื่อสารออกมาผ่านทั้งทางคำพูด การแสดงออกทางสีหน้าและท่าทาง
ลูกน้อยพูดได้แล้ว
จากที่ก่อนหน้านี้เด็กทำได้เพียงการออกเสียงอย่างไร้ความหมาย เมื่อก้าวผ่านช่วงอายุ 1 ปีมาแล้ว เด็กสามารถที่จะออกเสียงคำได้ชัดเจนมากขึ้น รวมไปถึงเข้าใจความหมายของคำง่ายๆบางคำ โดยเด็กอาจเริ่มจากการพูดคำว่า คุณแม่ คุณพ่อ ไปจนถึงคำที่เด็กให้ความสนใจตั้งแต่วัยเยาว์และได้ยินเป็นประจำตั้งแต่วัยเยาว์ ซึ่งคุณแม่คุณพ่อไม่ควรละเลยที่จะพูดคำซ้ำๆและอ่านนิทานเรื่องเดิมๆให้ลูกน้อยฟัง ไม่เพียงแต่ลูกน้อยจะสามารถจดจำคำศัพท์ได้ดีขึ้น แต่ยังช่วยในด้านการออกเสียงที่ถูกต้องในอนาคตอีกด้วย นอกจากนี้เด็กยังอาจสามารถพูดคำว่า ใช่ และ ไม่ ได้แล้วอีกด้วย ดังนั้นในช่วงนี้เด็กอาจลองพูดคำว่าไม่เป็นการตอบคำถามของคุณแม่คุณพ่อเพื่อรอดูการตอบโต้ของคุณแม่คุณพ่อ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการสื่อสารระหว่างคุณแม่คุณพ่อและลูกน้อย วิธีการแก้ไขง่ายๆคือคุณแม่คุณพ่อควรหลีกเลี่ยงคำถามใช่หรือไม่ แต่ให้ทางเลือกกับลูกน้อยแทน การให้ทางเลือกที่ชัดเจนนอกจากจะทำให้ลูกน้อยรู้สึกดีกับการได้เป็นผู้ควบคุมความต้องการของตนเองแล้ว ยังช่วยให้การสื่อสารเป็นไปอย่างราบรื่นอีกด้วย
ลูกน้อยเข้าใจคำสั่ง คำขอ ของคุณแม่คุณพ่อ
แม้ลูกน้อยอาจยังไม่สามารถตอบโต้เป็นประโยคได้ แต่ในวัยนี้ ลูกน้อยอาจสามารถเข้าใจสิ่งที่คุณแม่คุณพ่อพูดได้มากกว่าที่คุณแม่คุณพ่อคาดหมายด้วยซ้ำไป ดังนั้นคุณแม่คุณพ่อควรทดสอบลูกน้อยและฝึกทักษะการทำความเข้าใจคำศัพท์ต่างๆด้วยการขอให้ลูกน้อยทำตามคำสั่งง่ายๆ เช่น ขอให้ลูกน้อยหยิบของเล่นชิ้นโปรด ขอให้ลูกน้อยหยิบหนังสือเล่มโปรด ขอให้ลูกน้อยเก็บของที่ตกอยู่บนพื้นขึ้นมาให้คุณแม่คุณพ่อ เป็นต้น เมื่อลูกน้อยสามารถทำได้ตามคำขอนั้น ลูกน้อยจะมีความรู้สึกประสบความสำเร็จ ซึ่งความรู้สึกนั้นจะช่วยให้เด็กยิ่งมีความต้องการที่จะเรียนรู้และสนุกไปกับมัน อย่างไรก็ตามคุณแม่คุณพ่อไม่ควรลืมที่จะให้กำลังใจลูกน้อยเมื่อลูกน้อยคำขอนั้นๆสำเร็จด้วยการปรบมือ ยิ้มให้ และพูดขอบคุณ
การเจริญเติบโตและสุขภาพของเด็ก
(Toddler’s growth and health)
เมื่อเด็กมีอายุได้ 1 ปี 1 เดือน หลายครอบครัวจะเริ่มเปลี่ยนแปลงอาหารของลูกน้อย จากที่เคยให้อาหารสำหรับเด็ก (Formulas) เป็นหลักควบคู่ไปกับนมแม่ ตอนนี้อาจเปลี่ยนเป็นการให้นมวัว และอาหารที่มีความนุ่ม เคี้ยวง่าย ไม่เสี่ยงต่อการติดคอ โดยจริงๆแล้วคุณแม่คุณพ่อยังสามารถให้นมแม่กับลูกน้อยได้อยู่ แต่ควรเปลี่ยนให้ลูกน้อยดื่มจากแก้วแทน เช่นเดียวกับนมวัว นมทางเลือก และน้ำผลไม้ที่ไม่มีน้ำตาลผสม นอกจากนี้คุณแม่คุณพ่อยังสามารถส่งเสริมให้ลูกน้อยฝึกทานอาหารด้วยตัวเองได้ตั้งแต่ตอนนี้ แม้ในช่วงแรกเด็กจะชอบใช้มือในการหยิบจับอาหาร แต่เมื่อมีการฝึกให้ทานด้วยอุปกรณ์ช้อนส้อม เด็กก็จะคุ้นเคยกับอุปกรณ์ไปได้ด้วยตัวเอง ทำให้การทานอาหารเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น
ในด้านของสุขภาพ เมื่อลูกน้อยมีอายุเกิน 1 ปีบริบูรณ์มาแล้ว ลูกน้อยควรเข้าพบกุมารแพทย์ตามการนัดหมายเพื่อติดตามพัฒนาการด้านต่างๆไม่ว่าจะเป็นด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย ด้านการเรียนรู้ ด้านภาษาและการสื่อสาร รวมไปถึงมีการฉีดวัคซีนตามอายุ โดยเด็กที่มีอายุ1 ปี 1 เดือน จะได้รับวัคซีนMMR ซึ่งเป็นวัคซีนรวมสำหรับป้องกัน 3 โรคด้วยกันนั่นคือ โรคหัด โรคคางทูม และโรคหัดเยอรมัน นอกจากนี้ยังมีวัคซีนรวมอีกตัวหนึ่งสำหรับป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่นและโรคฮิบ รวมไปถึงวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ โดยขึ้นอยู่กับกุมารแพทย์ว่าจะแบ่งการฉีดยาอย่างไร วัคซีนบางตัวอาจจะฉีดเมื่อเด็กมีอายุครบ 12 เดือนบริบูรณ์ บางตัวอาจแบ่งฉีดเมื่อเด็กมีอายุครบ 13 เดือนบริบูรณ์
เคล็ดลับสำหรับคุณแม่ในการเลี้ยงลูกน้อย (Postpartum Tips)
เล่นเก็บของกับลูกน้อย
กิจกรรมนี้ถือเป็นกิจกรรมที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของลูกน้อยได้หลายด้านด้วยกัน โดยสามารถทำได้ง่ายๆเพียงแค่วางของเล่นของลูกน้อยไว้บนพื้น แล้วขอให้ลูกน้อยเก็บของตามที่คุณแม่ขอ เช่น ขอให้เก็บตุ๊กตาหมี ขอให้เก็บรถของเล่น ขอให้เก็บลูกบอล เป็นต้น เมื่อลูกน้อยเก็บของลงกล่องได้ถูกชิ้นก็เป็นโอกาสที่ดีในการปรบมือและให้กำลังใจ กิจกรรมนี้นอกจากจะเป็นการทดสอบความรู้ ความเข้าใจด้านคำศัพท์ของลูกน้อยแล้ว ยังเป็นการฝึกทักษะการเคลื่อนไหว เนื่องจากลูกน้อยอาจต้องลุกขึ้นยืน เดิน คลาน นั่งตัวตรง เอื้อมมือหยิบสิ่งของ และอีกมากมายเพื่อทำตามคำขอให้สำเร็จ อย่างไรก็ตามหากลูกน้อยแสดงท่าทีเหนื่อยล้า ให้หยุดกิจกรรมและให้กำลังใจลูกน้อยเพื่อให้เด็กรู้สึกสนุก รู้สึกอยากร่วมกิจกรรมนี้อีกครั้ง
ให้ลูกน้อยดูภาพของสมาชิกในครอบครัว
ในวัยนี้เด็กจะเริ่มรู้และเข้าใจว่าตัวเขาเป็นใคร คุณแม่และคุณพ่อเป็นใคร ใครคือคนแปลกหน้า อาจสังเกตได้จากการที่เด็กมักจ้องมองเงาสะท้อนของตัวเองในกระจกเป็นเวลานาน ความเข้าใจนี้ส่งผลให้เด็กสามารถแยกแยะและบอกได้ว่าใครเป็นใคร ดังนั้นช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่เหมาะสมในการให้เด็กได้ทำความคุ้นเคยกับบุคคลอื่นๆที่เป็นสมาชิกในครอบครัวและญาติๆของคุณแม่คุณพ่อด้วยการให้ลูกน้อยดูภาพสมาชิกในครอบครัว พร้อมกับการชี้และบอกว่าคนคนนี้คือใคร การทำแบบนี้บ่อยครั้งจะช่วยให้ลูกน้อยจดจำได้ว่าสมาชิกในครอบครัวมีใครบ้าง และแยกแยะความแตกต่างของสมาชิกแต่ละคนจากกันได้